กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย 10 เดือน ปี 67 ส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 569.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โต 11.5% ครองแชมป์ส่งออกเบอร์ 1 ในอาเซียน ตลาดกัมพูชา ฟิลิปปินส์ เมียนมา สิงคโปร์มาแรง ชี้! 14 ประเทศคู่ FTA ยกเลิกภาษีนำเข้าให้กับไทยแล้ว เตรียมเปิดเสรีนมและผลิตภัณฑ์นม ภายใต้ FTA ไทย–ออสเตรเลีย และ FTA ไทย–นิวซีแลนด์ ดีเดย์ 1 ม.ค. 68 ช่วยเพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการไทย
นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกของไทยในช่วงที่ผ่านมา พบว่า นมและผลิตภัณฑ์นม เป็นสินค้าศักยภาพกลุ่มเกษตรแปรรูปของไทยที่มีการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดคู่ค้าที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย โดยในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค. 2567) ไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปตลาดโลก มีมูลค่า 603.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นการส่งออกไปตลาดคู่ FTA มูลค่า 569.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11.5% มีสัดส่วนสูงถึง 94.3% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด ซึ่งตลาดคู่ FTA ที่มีการขยายตัว ได้แก่ อาเซียน ขยายตัว 9.8% ฮ่องกง ขยายตัว 5.0% ญี่ปุ่น ขยายตัว 165.6% ออสเตรเลีย ขยายตัว 132.2% และเกาหลีใต้ ขยายตัว 19.1% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ นม UHT นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต นมและครีมที่ไม่เข้มข้นและไม่หวาน นมถั่วเหลืองที่มีนมผสม และนมและครีมที่เข้มข้นและหวาน
นางสาวโชติมา กล่าวว่า FTA เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการขยายตัวทั้งด้านปริมาณและมูลค่าการส่งออกของนมและผลิตภัณฑ์นมของไทย โดยปัจจุบัน 14 ประเทศคู่ FTA ของไทย ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง ได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับนมและผลิตภัณฑ์นมนำเข้าจากไทยทุกรายการแล้ว เหลือเพียง 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ที่ลดภาษีนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมบางรายการให้ไทยแต่ยังไม่เป็นศูนย์ อาทิ ญี่ปุ่น เก็บภาษีนำเข้านม 21.3-25.5% โยเกิร์ต 21.3-29.8% เนยแข็ง (ชีส) 22.4-40% เกาหลีใต้ เก็บภาษีนำเข้านม 28.8% โยเกิร์ต 5-71.2% เนยแข็ง (ชีส) 5-36% และอินเดีย ไม่เก็บภาษีนำเข้านมเปรี้ยว โยเกิร์ต และเนยแข็ง (ชีส) จากไทยแล้ว แต่ยังเก็บภาษีนำเข้านมที่อัตรา 30-60% นอกจากนี้ ความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ญี่ปุ่น ตกลงจะทยอยลดภาษีนำเข้าเครื่องดื่มนมที่มีนมผสมลงจนเหลือศูนย์ ในปี 2580
ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมอันดับที่ 1 ในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 7 ของโลก โดยสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมทุกรายการได้รับแต้มต่อจาก FTA โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าในประเทศอาเซียนทั้งหมดแล้ว ทำให้การส่งออกเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค. 2567) ไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปอาเซียน มูลค่า 482.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 9.8% มีสัดส่วนถึง 79.9% ของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมทั้งหมด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยตลาดอาเซียนที่ขยายตัวได้ดี อาทิ กัมพูชา ขยายตัว 4.9% ฟิลิปปินส์ ขยายตัว 20.4% เมียนมา ขยายตัว 6.7% และสิงคโปร์ ขยายตัว 21.9% สินค้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น อาทิ นม UHT มูลค่า 128.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.5% นมเปรี้ยวและโยเกิร์ต มูลค่า 124.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10.7% นมและครีมที่ไม่เข้มข้นและไม่เติมน้ำตาล มูลค่า 83.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14.3% และนมและครีมที่เข้มข้นและหวาน มูลค่า 42.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 67.9%
นอกจากนี้ ในวันที่ 1 ม.ค. 2568 ไทยกำหนดเปิดเสรีสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมภายใต้ FTA ไทย–ออสเตรเลีย และ FTA ไทย–นิวซีแลนด์ โดยจะลดภาษีเป็นศูนย์ และยกเลิกมาตรการโควตาภาษี (TRQs) ในรายการสินค้าที่เหลือ คือ นมและครีม (น้ำนมดิบ) เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของนม (นมพร้อมดื่ม) และนมผงขาดมันเนย ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์ อาทิ เนย เบเกอรี่ โยเกิร์ต และไอศกรีมของไทย โดยจะช่วยเพิ่มแต้มต่อและลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการในการผลิตสินค้าดังกล่าว รวมทั้งเพิ่มศักยภาพในการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับนม อาทิ โยเกิร์ต และไอศกรีม ไปตลาดอาเซียนและจีนอีกด้วย
----------------------------------
12 ธันวาคม 2567