ฮอนด้าปิดฉากการผลิตรถยนต์ในฟิลิปปินส์
ท่ามกลางการปรับโครงสร้างการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลก เมื่อวันเสาร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563
บริษัท Honda Cars Philippines ประกาศว่าจะปิดโรงงานผลิตรถยนต์ที่เมืองซานตา โรซา จังหวัดลากูน่า
ทางตอนใต้ของกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ในเดือนมีนาคมนี้ ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2533 และเริ่มการผลิตตั้งแต่ปี 2535 ปัจจุบันผลิตรถยนต์ฮอนด้ารุ่น BR-V และ City ถือหุ้นโดย Honda Motor ร้อยละ 74.2 และบริษัทฟิลิปปินส์ ได้แก่ บริษัท AC Industrial Technology Holdings Inc. ร้อยละ 12.9 และ Rizal Commercial Banking Corp. ร้อยละ 12.9 มีพนักงานทั้งหมด 650 คน
ที่ผ่านมาโรงงานแห่งนี้ดำเนินการผลิตเพียง 1 ใน 4 ของกำลังการผลิตทั้งหมดของโรงงาน โดยในปี 2563
มีการผลิตเพียง 7,000 หน่วย ซึ่งน้อยกว่ากำลังการผลิตของโรงงานที่ 30,000 หน่วยต่อปี ฮอนด้ากล่าวว่า
บริษัทฯ ได้พิจารณาถึงการจัดสรรและการกระจายทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีสินค้าที่ราคาสมเหตุสมผลและคุณภาพดีแก่ลูกค้าชาวฟิลิปปินส์ ดังนั้น หลังจากที่ได้พิจารณาเพื่อพยายามเพิ่มประสิทธิภาพ
การผลิตในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียแล้ว ฮอนด้าจึงตัดสินใจยุติการผลิตรถยนต์ในฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม ฮอนด้าจะยังคงมีการขายและบริการหลังการขายในฟิลิปปินส์ต่อไปผ่านเครือข่ายในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียของฮอนด้า โดยเปลี่ยนจากการขายรถยนต์ที่ผลิตในฟิลิปปินส์เป็นการขายรถยนต์นำเข้าแทน ทั้งนี้ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฮอนด้ามีฐานการผลิตใหญ่ที่ประเทศไทยและอินโดนีเซีย
ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2555 ฮอนด้าได้ยกเลิกการผลิตรถยนต์รุ่น Civic ในฟิลิปปินส์ โดยใช้การนำเข้าจากประเทศไทยแทน และเมื่อปี 2561 ฮอนด้าประสบปัญหายอดขายชะลอตัวหลังจากที่รัฐบาลฟิลิปปินส์เรียกเก็บภาษีการซื้อรถยนต์ ทำให้ปี 2562 ฮอนด้ามียอดขายรถยนต์ในฟิลิปปินส์ 20,338 คัน ลดลงจากปีก่อนหน้า
ถึงร้อยละ 12.7
ผลกระทบจากการปิดโรงงานดังกล่าว ทำให้กลุ่มแรงงานปกป้องงานฟิลิปปินส์ (Labor group, Defend Jobs Philippines) ออกมาให้ข่าวว่า จะมีคนตกงาน 387 คน รวมถึงพนักงานจากอีกกว่า 60 บริษัท ที่จัดหาชิ้นส่วนให้กับบริษัท Honda Cars Philippines โดย Defend Jobs Philippines เรียกร้องให้กระทรวงแรงงานฟิลิปปินส์เข้าแทรกแซงและดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียด
ในปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถยนต์ฮอนด้าประกาศการปรับโครงสร้างทั่วโลก โดยมุ่งหวังที่จะเพิ่มประสิทธิภาพ
การผลิต จนถึงปัจจุบันฮอนด้าได้ประกาศยุติการผลิตรถยนต์ในตุรกี (พนักงานราว 1,100 คน) และอาร์เจนตินา (พนักงานราว 1,100 คน) ด้วยสาเหตุจากความต้องการซื้อรถยนต์ที่ลดลง และเป้าหมายของบริษัทที่จะปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ผนวกกับค่าเงินของประเทศดังกล่าวแข็งตัวขึ้น ทำให้ต้นทุนการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์สูงขึ้นตามมา รวมทั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในสหราชอาณาจักร (พนักงานราว 3,500 คน) โดยฮอนด้ากล่าวว่า จะย้ายฐานการผลิตไปที่ญี่ปุ่น อเมริกาเหนือ และจีน แทน ทั้งนี้ Christian Stadler ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์และศาสตราจารย์ด้านการจัดการเชิงกลยุทธ์ของ Warwick Business School วิเคราะห์ว่า การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit อาจเป็นปัจจัยในการตัดสินใจของผู้ผลิตรถยนต์ครั้งนี้
บทวิเคราะห์
ในช่วงสองสามปีมานี้ อุตสาหกรรมรถยนต์เกิดปรากฏการณ์โรงงานผลิตรถยนต์ทยอยปลดพนักงาน และยุติการผลิตทั่วโลก ในประเทศไทยเอง ล่าสุดช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัท General Motors ได้ประกาศยุติจำหน่ายรถยี่ห้อ Chevrolet ในไทย และขายโรงงานผลิตรถยนต์ที่ระยองให้กับบริษัท Great Wall Motors ปรากฏการณ์นี้อาจมาจากหลายสาเหตุ อาทิ (1) ความต้องการซื้อ (อุปสงค์) รถยนต์ลดลง อันเนื่องมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ และสงครามการค้า (2) นโยบายด้านการลดมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งมีมาตรการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าตามปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สินค้าปล่อยออกมา และมีการกำหนดมาตรฐานสินค้าด้านการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีมาตรฐานสูงขึ้น ทำให้การผลิตรถยนต์ต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมและส่งผลให้มีต้นทุนสูงขึ้น ถึงแม้ผู้ผลิตรถยนต์จะเริ่มหันมาให้ความสนใจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า แต่ในบางประเทศก็ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จะมารองรับ นอกจากปัญหาเหล่านี้แล้ว ในอนาคตผู้ผลิตรถยนต์อาจต้องเผชิญกับความท้าทายด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านของผู้ซื้อซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์ จากเดิมที่บุคคลทั่วไปซื้อรถยนต์มาใช้เอง อาจกลายเป็นการให้บริการรถยนต์ไร้คนขับจากบริษัทต่างๆ แทน ดังนั้น บริษัทผลิตรถยนต์จะต้องมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลและวางแผนปรับรูปแบบธุรกิจของตนให้เหมาะสมกับแนวโน้มผู้บริโภคในอนาคตให้ได้ สำหรับไทยซึ่งเป็นประเทศฐานการผลิตรถยนต์ ก็ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ ควรต้องมองหามาตรการรองรับในกรณีที่โรงงานต่างๆ ทยอยปิดตัว ผู้คนตกงาน อันอาจเชื่อมโยงยาวไปถึงปัญหาสังคมด้านอื่นๆ ตามมาด้วยเช่นกัน
นางสาวนาถวดี เครือรัตน์
นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ
สำนักเจรจาการค้าบริการและการลงทุน/ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มา:
(1) เว็บไซต์ Nikkei Asian Review. Cliff Venzon. 22 กุมภาพันธ์ 2563. Honda to halt car production in the Philippines. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: https://asia.nikkei.com/Business/Automobiles/Honda-to-halt-car-production-in-the-Philippines. เข้าล่าสุดเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2563.
(2) เว็บไซต์ CNN Philippines. 22 กุมภาพันธ์ 2563. Honda Cars PH to stop automobile production in March. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: https://www.cnnphilippines.com/business/2020/2/22/honda-cars-ph-stop-production.html. เข้าล่าสุดเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2563.
(3) เว็บไซต์ AutoStation. 23 กุมภาพันธ์ 2563. Honda ประกาศปิดโรงงานผลิตรถยนต์ในฟิลิปปินส์เดือนมีนาคมนี้. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: https://www.autostation.com/car/honda-philippines-closure-march-2020. เข้าล่าสุดเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2563.
(4) เว็บไซต์ The Japan Times. Kyodo. 14 สิงหาคม 2562. Honda to end car production in Argentina in 2020. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: https://www.japantimes.co.jp/news/2019/08/14/business/corporate-business/honda-car-production-argentina-2020/#.XlSYSpUzaM9.
เข้าล่าสุดเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2563.
(5) เว็บไซต์ Automotive News Europe. Reuters. 14 สิงหาคม 2562. Honda to end production in Argentina. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: https://europe.autonews.com/automakers/honda-end-production-argentina. เข้าล่าสุดเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2563.
(6) เว็บไซต์ The Economist Intelligence Unit. 9 เมษายน 2562. Honda to stop production in Turkey in 2021. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: http://www.eiu.com/industry/article/637885247/honda-to-stop-production-in-turkey-in-2021/2019-04-09. เข้าล่าสุดเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2563.
(7) เว็บไซต์ BBC News. Daniel Thomas. 7 มิถุนายน 2562. Five reasons the car industry is struggling. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: https://www.bbc.com/news/business-48545733. เข้าล่าสุดเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2563.
(8) เว็บไซต์ Auto Deft. พิสน ลีละหุต. 18 กุมภาพันธ์ 2563. ทำไม Chevrolet ต้องยกทัพถอนตัวออกจากประเทศไทย?. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: https://www.autodeft.com/deftscoop/why-chevrolet-withdraw-from-thailand. เข้าล่าสุดเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2563.
(9) เว็บไซต์ Money Buffalo. 20 กุมภาพันธ์ 2563. ทำไม “เชฟโรเลต” ถึงปิดโรงงานในไทย?. (ออนไลน์). แหล่งที่มา: https://www.moneybuffalo. in.th/ธุรกิจและเศรษฐกิจ/เชฟโรเลต-ปิดโรงงาน. เข้าล่าสุดเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2563.