บทนำ
ปัญหาคอร์รัปชันถือได้ว่าเป็นปัญหาใหญ่และเรื้อรังมานานในหลายประเทศ ถึงแม้ภาครัฐจะมีความพยายามป้องกันและแก้ไขมาโดยตลอด แต่เหมือนว่าปัญหาการคอร์รัปชันกลับยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ หมดไปจากสังคม โดยจากการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2565 ใน 180 ประเทศทั่วโลก ที่จัดทำขึ้นโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) พบว่า เดนมาร์กเป็นประเทศที่ได้คะแนนสูงที่สุดคือ 90 /100 คะแนน โดยประเทศ 10 อันดับแรก ที่ได้คะแนนสูงสุด ส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปยุโรป และมีเพียงสิงคโปร์ที่เป็นสมาชิกอาเซียนประเทศเดียวที่ ติดอันดับ โดยได้คะแนน 85/100 อยู่ในอันดับที่ 4 ร่วมกับนอร์เวย์และสวีเดน ทั้งนี้ ประเทศและภูมิภาคที่มีอันดับ CPI สูง มีแนวโน้มที่จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว และจะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 สำหรับทุก ๆ คะแนน CPI ที่เพิ่มขึ้น และยิ่งอันดับ CPI ของประเทศสูงเท่าใด มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น จึงสรุปได้ว่า การทุจริตคอร์รัปชันมีผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจ และการลงทุนของประเทศหรือภูมิภาคนั่นเอง
สำหรับประเทศไทย ค่าดัชนีCPI ยังอยู่ในระดับต่ำ คืออยู่อันดับที่ 101 หรือเท่ากับ 32/100 คะแนน และถึงแม้รัฐบาลไทยจะมีความพยายามในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบผ่านการกำหนด แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 – 2580) และมีกฎหมาย อาทิ พระราชบัญญัติมาตรการ ของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 แต่จากผลการวิจัยของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันเเละปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ยังพบว่า ภาพลักษณ์ของภาครัฐในสายตาเอกชนและประชาชนคือ “ไม่สะดวก ไม่โปร่งใส และไม่เชื่อมั่น”