บทนำ
เมื่อ ‘ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle)’ อาจส่งเสริมความยั่งยืนแค่ ‘เชิงสัญลักษณ์’ ... ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความต้องการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกส่งผลให้เกิด กระแสการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีความเชื่อว่า การเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าจะช่วยลดปริมาณการใช้งานเชื้อเพลิงฟอสซิล (fossil fuel) ได้ อย่างไรก็ดี คำถามที่สำคัญ คือ “รถยนต์ไฟฟ้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเป็นพลังงานสะอาด (green and clean) อย่างที่มุ่งหวังจริงหรือไม่” และคำตอบที่น่าสนใจ คือ “อาจไม่จำเป็นเสมอไป” เพราะการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้แร่ธาตุหายาก (Rare Earth Elements: RRE) เช่น ลิเธียม นิกเกิล โคบอลต์ หรือ กราไฟต์ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป และต้องผ่านกระบวนการขุดเจาะจากใต้พื้นผิวโลกที่ก่อมลพิษสูง นอกจากนี้ กระบวนการผลิตไฟฟ้าที่นำมาใช้กับแบตเตอรี่รถยนต์ อาจยังมีที่มาจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ตลอดจนการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่การผลิต ดังนั้น ความพยายามในการพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีความยั่งยืนมากขึ้น จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามีความรับผิดชอบต่อ สิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างแท้จริง และไม่ใช่เพียงการส่งเสริมความยั่งยืนในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น