ภูมิหลังและสถานะล่าสุดของการหารือของกลุ่มการค้าบริการ
(Group of Services: GOS) ภายใต้กรอบเอเปค
ภูมิหลัง
กลุ่มการค้าบริการ (Group of Services) หรือ GOS เป็นคณะทำงาน ภายใต้คณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน (Committee on Trade and Investment: CTI) ภายใต้กรอบเอเปค โดยได้จัดตั้งขึ้นในปี 2540 (ค.ศ. 1997) เพื่อส่งเสริมการพัฒนา การเปิดเสรี และการอำนวยความสะดวกการค้าบริการในภูมิภาคเอเปค
คณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการลงทุน (Committee on Trade and Investment: CTI) เป็นเวทีสำหรับ 21 ประเทศสมาชิกของเอเปกในการพิจารณาประเด็นการค้าและนโยบาย เพื่อลดอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ และส่งเสริมการค้าและการลงทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้เขตเศรษฐกิจของ APEC บรรลุเป้าหมายการค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างและเสรีตามวิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 กลไกการดำเนินงานภายใต้ CTI แบ่งออกเป็น ๘ กลุ่มย่อย ได้แก่
โดยผลการดำเนินการของแต่ละกลุ่มย่อยจะถูกนำเสนอต่อ CTI เพื่อให้รัฐมนตรีเขตเศรษฐกิจเอเปคให้การรับรอง และมอบข้อสั่งการในการดำเนินการต่อไปในช่วงการการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (Ministers Responsible for Trade Meeting: MRT) ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี |
เมื่อปี 2561 สมาชิกเอเปคได้มีการปรับปรุงขอบเขตความรับผิดชอบ (Terms of Reference: TOR) ของทุกคณะทำงาน รวม GOS โดยเพิ่มเติมรายละเอียดสำคัญ ได้แก่ (1) กรอบระยะเวลาของ GOS จำนวน 4 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2564 โดย GOS และ CTI จะต้องร่วมกันทบทวน TOR เพื่อเสนอให้ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials’ Meeting: SOM) พิจารณาเพื่อต่ออายุต่อไป และ (2) จำนวนผู้เข้าร่วมขั้นต่ำ (Quorum) ของ GOS ต้องไม่น้อยกว่า 14 เขตเศรษฐกิจ และหาก Quorum ไม่ถึงเกณฑ์เป็นจำนวน 2 การประชุมติดต่อกัน สมาชิกจะต้องยกขึ้นหารือในที่ประชุม SOM เพื่อพิจารณาว่าจะให้ GOS ดำเนินการต่อไปหรือไม่ (ที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีปรากฏว่า GOS มีจำนวนผู้เข้าร่วมไม่ถึงเกณฑ์ Quorum)
GOS ได้มีการจัดทำแผนงานการดำเนินการ (work program) นับตั้งแต่มีการประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2540 โดยเน้นการรวบรวม/วิเคราะห์ข้อมูล และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในกิจกรรมต่างๆ เช่น ทบทวนข้อมูลด้านการค้าบริการของแต่ละประเทศ ทบทวนความตกลงด้านการค้าบริการของกลุ่มต่างๆในภูมิภาคเอเปค การจัดสัมมนาและนำเสนอโดยสมาชิก/องค์กร การรวบรวมมาตรการที่มีผลกระทบต่อการค้าบริการของสมาชิก การศึกษาฐานข้อมูลสถิติการค้าบริการของสมาชิก เป็นต้น นอกจากนี้ GOS จะดำเนินงานในเรื่องการเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการค้าภาคบริการ และทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการดำเนินงานอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
การดำเนินการสำคัญ
ปัจจุบัน GOS มีการดำเนินการสำคัญ ดังนี้
1. การจัดทำรายงานการทบทวนระยะกลาง (mid-term review) ของแผนการดำเนินการเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถภาคบริการเอเปค (APEC Services Competitiveness Roadmap: ASCR) 2559-2568 แผน ASCR เป็นการบูรณาการแผนการดำเนินการภายใต้คณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ในการส่งเสริมการปฏิบัติที่ดีในด้านกฎระเบียบ การเปิดตลาดการค้าบริการ การพัฒนาทักษะแรงงาน และการอำนวยความสะดวกด้านการเงินที่มีประสิทธิภาพและทั่วถึง โดย GOS จะทำหน้าที่ในการติดตามความคืบหน้าเพื่อรายงานผลต่อที่ประชุม SOM
ในปี 2564 สมาชิกได้จัดทำรายงานการทบทวนระยะกลาง (ASCR Mid-term Review) โดยหน่วยสนับสนุนด้านนโยบายของเอเปค (Policy Support Unit: PSU) ได้เวียนร่างสุดท้าย (final report) ของรายงานฯ แล้ว เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 สรุปได้ว่าแผนการดำเนินการฯ ยังไม่มีความคืบหน้ามากนักเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 โดยพบว่าอัตราการเติบโตภาคบริการของเอเปคในช่วงปี 2559-2562 อยู่ที่ 5.3% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 6.8% และส่วนแบ่งการส่งออกภาคบริการเอเปคในตลาดโลกลดลง ทั้งนี้ PSU ได้เสนอแนะให้เอเปคใช้ความพยายามมากขึ้นเพื่อเร่งดำเนินการตาม ASCR ต่อไป โดยเห็นควรให้มีการทบทวนและปรับปรุง ASCR เพื่อไปสู่
การดำเนินการที่เป็นรูปธรรม วัดความสำเร็จได้ และส่งเสริมการดำเนินการเอเปคอื่นๆ
2. การขับเคลื่อนประเด็นบริการที่ยังไม่แล้วเสร็จเพื่อไปสู่เป้าหมายโบกอร์ (Addressing the Unfinished Business of the Bogor Goals: Final Push in Services) รวม 5 โครงการ โดยมีเขตเศรษฐกิจที่รับผิดชอบหลัก ดังนี้
2.1 วินัยเพื่อกำกับดูแลกฎระเบียบภายในประเทศ (Domestic Regulation of Services)
เอเปคได้จัดทำวินัยที่ไม่มีผลผูกพันเพื่อกำกับดูแลกฎระเบียบภายในประเทศภาคบริการของเอเปค (Non-Binding Principles for Domestic Regulations of the Services Sector) จนแล้วเสร็จและได้รับความเห็นชอบเมื่อปี 2561 ต่อมาในปี 2562 สหรัฐฯ ได้ผลักดันการส่งเสริมการนำวินัยฯ ดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติที่เป็นเลิศ และ ความโปร่งใส่และความแน่นอนในการจัดทำกฎระเบียบ (Transparency and Predictability in Rule Making) ทั้งนี้ ที่ประชุม GOS เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 ที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอโครงการของสหรัฐฯ เรื่องการศึกษาวิจัยแนวทางด้านกฎระเบียบยุคใหม่ในการอนุญาตให้บริการ โดยจะดำเนินการศึกษาวิจัยในช่วงปี 2563-2565 และนำเสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุม GOS ในปี 2565 ต่อไป
2.2 การจัดทำดัชนีเอเปคเพื่อวัดสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบด้านการค้าบริการในภูมิภาคเอเปค (Developing an APEC Index to Measure the Regulatory Environment in Services Trade of APEC)
เอเปคได้จัดทำร่างดัชนีเอเปค (โดยความร่วมมือจาก OECD) ใน 4 สาขาบริการนำร่อง (โทรคมนาคม โลจิสติกส์ การจัดจำหน่าย และบริการคอมพิวเตอร์) ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ (1) ดัชนีวัดข้อจำกัดภาคบริการ (Services Trade Restrictiveness Index: STRI ) ซึ่งใช้วิธีการเดียวกับ OECD STRI และ (2) ดัชนีพัฒนาการการเปิดตลาดบริการ ซึ่งเป็นดัชนีย่อยเฉพาะเอเปค (APEC-Specific elements) ที่สมาชิกเสนอ โดยโครงการนี้มีสถานะเป็นโครงการนำร่อง ประกอบด้วยสมาชิกเอเปคที่เป็นสมาชิก OECD และสมาชิกที่มิได้เป็นสมาชิก OECD อีก 4 เขตเศรษฐกิจ (เปรู ชิลี เวียดนาม และไทเป) ทั้งนี้ ที่ประชุม GOS เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 ได้เห็นชอบให้เพิ่มดัชนีย่อยเฉพาะเอเปคอีก 1 ดัชนีย่อย คือ การส่งเสริมการเคลื่อนย้ายบุคคลในภูมิภาคโดยการยกเว้นวีซ่า (คล้ายกับโครงการบัตรท่องเที่ยวสำหรับนักธุรกิจเอเปค)
2.3 การยอมรับร่วมกันด้านคุณสมบัติและใบอนุญาต (Mutual Recognition of Qualifications and Licensing)
ในที่ประชุม GOS เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563 ออสเตรเลียได้นำเสนอแผนการดำเนินการต่อไป อันประกอบด้วย การจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับความตกลงการยอมรับร่วมที่เกี่ยวข้อง (Mutual Recognition Arrangement: MRA) การจัดโครงการเสริมสร้างความสามารถ และการจัดทำ MRA Toolkit โดยจะจัดทำข้อเสนอโครงการและเวียนให้สมาชิกพิจารณาต่อไปในปี 2565
2.4 การดำเนินการตามข้อสั่งการรัฐมนตรีการค้าเอเปคในการระบุสาขาบริการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม (Environmental Services)
สมาชิกได้ จัดทำรายการสาขาบริการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมของเอเปค เพื่อใช้ในการอ้างอิงและไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย จนแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีการค้าเอเปคประจำปี 2564 (Ministers’ Responsible for Trade: MRT) ที่ได้สั่งการให้สมาชิกเอเปคระบุสาขาบริการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และได้รายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting: AMM) แล้วในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ นิวซีแลนด์ได้เสนอโครงการให้สมาชิกจัดทำ (1) โมเดลตารางข้อผูกพันสาขาบริการสิ่งแวดล้อมและบริการที่เกี่ยวข้อง และ (2) คู่มือกฎระเบียบสำหรับบริการสิ่งแวดล้อมและบริการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สมาชิกใช้ประกอบการพิจารณาเปิดเสรี และปรับปรุงกฎระเบียบตามความเหมาะสมและตามความสมัครใจในอนาคต สมาชิกส่วนใหญ่เห็นชอบในหลักการ และตกลงให้นิวซีแลนด์จัดทำร่างข้อเสนอโครงการและเวียนให้สมาชิกพิจารณาให้ความเห็นในโอกาสแรกต่อไป
2.5 บริการที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิต (Manufacturing-related Services)
สมาชิกได้จัดทำรายงานผลการทบทวนครั้งสุดท้ายของแผนการดำเนินการบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิต (Manufacturing-related Services Action Plan (MSAP) Final Review) จนแล้วเสร็จเมื่อปี 2563 โดยมีข้อเสนอแนะสำคัญ ดังนี้ 1. จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการและการหารือเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถ 2. หารือเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสในมาตรการที่เกี่ยวข้องกับบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิต 3. สำรวจความเป็นไปได้ในการส่งเสริมความสอดคล้องเชิงนโยบายของสมาชิก และ 4. ศึกษาผลกระทบของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิต
3. โครงการอื่นๆ
3.1 โครงการเรื่องบริการที่สนับสนุนการกำจัดขยะในทะเล เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการลดอุปสรรคต่อบริการที่สนับสนุนการกำจัดขยะในทะเล
3.2 โครงการจัดทำสถิติเกี่ยวกับการค้าบริการในโหมด 3 (การจัดตั้งธุรกิจ) เพื่อสร้างความเข้าใจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบริการโหมด 3
3.3 โครงการของนิวซีแลนด์เรื่องการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องการค้าบริการและระบบอาหารเพื่อศึกษาผลกระทบของสภาพแวดล้อมการค้าบริการต่อห่วงโซ่อุปทานอาหารโลก
3.4 การหารือบทบาทของ GOS ในการสนับสนุนการดำเนินการเอเปคที่เกี่ยวข้อง อาทิ (1) แผนการดำเนินการสำหรับสตรีและการเติบโตที่ทั่วถึง (La Serana Roadmap for Women and Inclusive Growth) และ (2) วาระปฏิบัติการโบราคายเพื่อส่งเสริม MSMEs ให้เข้าไปสู่ตลาดโลก (Boracay Action Agenda to Globalize MSMEs: BAA)
3.5 โครงการเรื่องแนวทางที่ปฏิบัติได้จริงในการจัดทำมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีสำหรับการเจรจาการค้าบริการ (Negative List Scheduling in Services Negotiations – A Practical Approach) เพื่อจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้ด้านการจัดทำมาตรการที่ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีสำหรับการเจรจาการค้าบริการในปี 2564
------------------------------------------
สำนักเจรจาการค้าบริการและการลงทุน
กรกฎาคม 2565