ความตกลงการค้าเสรี ไทย-อินเดีย
(Thailand-India Free Trade Agreement: TIFTA)
ความเป็นมา
- กรอบความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย ลงนามเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม และเริ่มเจรจาฯ ตั้งแต่ เม.ย. 2547 โดยเป็นความตกลงการค้าเสรีแบบครอบคลุม (Comprehensive FTA) ประกอบด้วย การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรการทางเทคนิคที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า กระบวนการด้านศุลกากร กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า การเยียวยาทางการค้า และความโปร่งใส
- ไทยและอินเดียได้ลงนามพิธีสารแก้ไขกรอบความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย (Protocol to Amend the Framework Agreement for Establishing Free Trade Area between Thailand and India) เป็นฉบับแรก เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2547 เพื่อให้มีการเปิดเสรีสินค้าส่วนแรก (Early Harvest Scheme: EHS) จำนวน 82 รายการ[1] โดยเริ่มลดภาษีตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2547 และยกเลิกภาษี ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2549 ได้แก่ สินค้าเกษตร อาทิ เงาะ ลำไย มังคุด ทุเรียน องุ่น ข้าวสาลี อาหารทะเลกระป๋อง (ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน ปลาแมกเคอเรล และปู) และสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ และชิ้นส่วนยานยนต์
- ต่อมา ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงจัดทำพิธีสารฉบับที่สองเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีไทย-อินเดีย เพื่อเพิ่มระเบียบพิธีปฏิบัติให้รองรับการซื้อขายผ่านประเทศที่สาม (Third Country Invoicing) สำหรับสินค้ากลุ่ม EHS และการเพิ่มรายการสินค้าตู้เย็นพิกัด 8418.10 ไว้ในรายการ EHS โดย ครม. มีมติเห็นชอบพิธีสารดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2554 ลงนามในวันที่ 25 มกราคม 2555 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 8 มิถุนายน 2555 รวมสินค้าในกลุ่ม EHS ทั้งหมด 83 รายการ
สถานะล่าสุด
- ที่ประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าไทย-อินเดีย (India – Thailand Trade Negotiating Committee: ITTNC) ครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 14-15 กรกฎาคมคม 2559 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เห็นพ้องให้เร่งสรุปการเจรจาโดยเร็วตามที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้ เนื่องจากการเจรจา FTA ไทย – อินเดีย ยืดเยื้อมากว่า 12 ปีแล้ว อย่างไรก็ตาม การเจรจามีความคืบหน้าน้อยมาก เพราะทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตอบสนองต่อข้อเรียกร้องระหว่างกันได้ โดยไทยต้องการเปิดเสรีสินค้า แต่อินเดียไม่ยืดหยุ่นท่าที เพราะ ยังเห็นว่า ไทยได้เปรียบจากการเปิดเสรีภายใต้ EHS ในขณะที่ อินเดียต้องการให้ไทยเปิดเสรีการค้าบริการในสาขาที่เป็นอาชีพสงวนของไทย (อาทิ นักบัญชี สถาปนิก และวิศวกร) ซึ่งเป็นสาขาอ่อนไหวของไทย
[1] เดิมมีรายการสินค้า EHS จำนวน 84 รายการ และกำหนดเริ่มลดภาษีวันที่ 1 มีนาคม 2547 จึงได้จัดทำพิธีสารแก้ไขกรอบความตกลงฯ เพื่อแก้ไขรายการสินค้า EHS เหลือ 82 รายการ และเริ่มลดภาษีสินค้าดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2547
----------------------------------------------
สำนักเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
มิถุนายน 2564