ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น
(Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA)
ความเป็นมา
- ในระหว่างการประชุม Boao Forum for Asia ณ มณฑลไหหลำ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2545 นายกรัฐมนตรีไทยและญี่ปุ่นได้หารือและเห็นควรให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อศึกษาการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดไทย-ญี่ปุ่น เพื่อผลักดันความร่วมมือที่ครอบคลุมรอบด้าน ทั้งด้านการค้า การลงทุน อุตสาหกรรม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งการจัดทำความตกลงการค้าเสรี โดยให้ยึดรูปแบบความตกลง Japan-Singapore for a New-Age Economic Partnership Agreement (JSEPA) เป็น ตัวอย่างในการทำความตกลงไทย-ญี่ปุ่น และต่อมา ในวันที่ 11 ธันวาคม 2546 ผู้นำทั้งสองได้พบหารือทวิภาคีและเห็นชอบให้เริ่มการเจรจาอย่างเป็นทางการ เพื่อจัดทำความตกลง JTEPA โดยให้เริ่มการประชุมเจรจาครั้งแรกที่ประเทศไทยในต้นปี 2547 หลังจากทั้งสองฝ่ายได้เจรจาทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการมากกว่า 10 ครั้ง ก็สามารถบรรลุผลการเจรจาอย่างสมบูรณ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 นายกรัฐมนตรี (พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์) และนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (นายชินโช อาเบะ) ได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 ณ กรุงโตเกียว โดย JTEPA เริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550
สถานะล่าสุด
- ไทยและญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการทบทวนทั่วไปความตกลง JTEPA ตามข้อ 169 ของความตกลง JTEPA ซึ่งกำหนดให้คู่ภาคีทบทวนความตกลงทั้งฉบับและพันธกรณีที่กำหนดไว้ เมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้ 10 ปี (2560) ในการนี้ ไทยและญี่ปุ่นเห็นพ้องให้เริ่มมีการพิจารณาทบทวนทั่วไปของ JTEPA โดยการทบทวนจะครอบคลุม ด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา การลงทุน รวมถึงประเด็นใหม่ๆ ที่ญี่ปุ่นหยิบยก อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และแรงงาน ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม SCGR ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 13 – 15 ธันวาคม 2560 ณ กรุงโตเกียว และไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม SCGR ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 – 11 เมษายน 2561 ณ กระทรวงการต่างประเทศ และญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม SCGR ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 29 – 30 มกราคม 2562 ณ กรุงโตเกียว
- ล่าสุด การเจรจาทบทวนความตกลง JTEPA ชะลอลง โดยเห็นว่าต้องการผลักดันให้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) มีการให้สัตยาบันครบทุกประเทศโดยเร็วเพื่อให้ผู้ประกอบการของประเทศภาคี รวมทั้ง ไทยและญี่ปุ่น ใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP โดยเร็วก่อน และนำมาประเมินการเจรจาทบทวนความตกลง JTEPA อีกครั้ง
----------------------------------------------
สำนักเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
มิถุนายน 2564