ความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-อินเดีย
(ASEAN-India Free Trade Agreement: AIFTA)
ความเป็นมา
- อาเซียนและอินเดียได้เริ่มเจรจาจัดทำความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า เมื่อเดือนมีนาคม 2547 และความตกลงการค้าบริการและความตกลงการลงทุนได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อเดือนตุลาคม 2551 ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2553
- ประเทศสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ (บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไทย) และอินเดียจะยกเลิกภาษีศุลกากรของสินค้าโดยรวมประมาณร้อยละ 80 ของรายการสินค้าภายในปี 2559 ประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) จะยกเลิกภาษีภายในปี 2564 ส่วนฟิลิปปินส์และอินเดียจะยกเลิกภาษีระหว่างกันภายในปี 2562 โดยไทยได้ยกเลิกภาษีสินค้าให้อินเดีย จำนวน 4,415 รายการ คิดเป็นร้อยละ 34 (HS 2007) และอินเดียได้ยกเลิกภาษีสินค้าให้ไทย จำนวน 4,141 รายการ คิดเป็นร้อยละ 79.35 (HS 2007) ภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน – อินเดีย
- ประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ (ยกเว้นฟิลิปปินส์) ลงนามความตกลงว่าด้วยการค้าบริการและการลงทุน เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 อินเดียลงนามเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2557 และฟิลิปปินส์แจ้งว่าได้ลงนามความตกลงฯ ทั้งสองฉบับแล้ว เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการและการลงทุนมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ทั้งนี้ ทุกประเทศได้ให้สัตยาบันความตกลงว่าด้วยการค้าบริการและความตกลงการลงทุนแล้ว
สถานะล่าสุด
- การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน – อินเดีย ครั้งที่ 16 เมื่อเดือนกันยายน 2562 ที่ประชุมเห็นพ้องจะริเริ่มการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน – อินเดีย (ASEAN – India Trade in Goods Agreement: AITIGA) เพื่อทำให้ความตกลงฯ ง่ายและสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งอาเซียนและอินเดียอยู่ระหว่างการหารือขอบเขตการทบทวนฯ ก่อนจะประกาศจัดตั้งคณะกรรมการร่วม (Joint Committee: JC) เพื่อเริ่มการทบทวนฯ ต่อไป
----------------------------------------------
สำนักเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
มิถุนายน 2564