ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน- สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)
(ASEAN - Korea Free Trade Agreement: AKFTA)
ความเป็นมา
ในการประชุมผู้นำอาเซียน-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 8 (The 8th ASEAN-ROK Summit) เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2547 ผู้นำอาเซียนและเกาหลีใต้เห็นชอบให้เริ่มเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - เกาหลีใต้ (AKFTA) และกำหนดให้สรุปผลเจรจาภายใน 2 ปี (ภายในปี 2549) ทั้งนี้ โครงสร้างความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - เกาหลีใต้ ประกอบด้วย กรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและเกาหลีใต้ (Framework Agreement on Comprehensive Economic Cooperation: FA) เป็นความตกลงที่กำหนดให้มีการเจรจาครอบคลุมด้านการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน-เกาหลีใต้ และกลไกการระงับข้อพิพาท โดยกำหนดให้มีความตกลงแยกต่างหากในแต่ละฉบับจำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย ความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ ความตกลงว่าด้วยการลงทุน และความตกลงว่าด้วยกลไกการระงับข้อพิพาท
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (FA) และความตกลงว่าด้วยกลไกการระงับข้อพิพาท (Agreement on Dispute Settlement Mechanism: DSM) ได้ลงนามในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2548
- ความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า (Agreement on Trade in Goods): อาเซียน 9 ประเทศ ยกเว้นไทย สามารถตกลงกับเกาหลีใต้ในความตกลงนี้ได้แล้ว และมีการลงนามเมื่อเดือนสิงหาคม 2549 โดยความตกลงการค้าสินค้ามีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 ขณะที่ไทยลงนามพิธีสารการเข้าเป็นภาคีของไทยในความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 และความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้สำหรับไทยเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2553
- ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ (Agreement on Trade in Services): อาเซียน 9 ประเทศ ยกเว้นไทย สามารถตกลงกับเกาหลีใต้ในความตกลงนี้ได้แล้ว และมีการลงนามเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 โดยความตกลง ว่าด้วยการค้าบริการมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 ขณะที่ไทยลงนามพิธีสารการเข้าเป็นภาคีของไทยในความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 และความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้สำหรับไทย เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2552
- ความตกลงว่าด้วยการลงทุน (Agreement on Investment): อาเซียนและเกาหลีใต้ได้ลงนาม
ความตกลงดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2552 โดยความตกลงว่าด้วยการลงทุนมีผลบังคับใช้แล้วสำหรับอาเซียน
9 ประเทศและเกาหลีใต้ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 และความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้สำหรับไทย เมื่อวันที่ 31ตุลาคม 2552
สถานะล่าสุด
- อาเซียนและเกาหลีใต้อยู่ระหว่างการเจรจาเปิดตลาดสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมตามข้อบทที่ 15.2 ของความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-เกาหลีใต้ที่ระบุให้มีการทบทวนรายการสินค้าอ่อนไหว โดยในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ ซึ่งได้มีการประกาศเริ่มต้นการเจรจาเปิดตลาดสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมอย่างเป็นทางการตั้งแต่การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 13 เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ณ สปป.ลาว และได้มีการเจรจามาอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดรูปแบบการเปิดเสรีสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมในระดับร้อยละ 1-2 ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด และแนวทางการเจรจาเป็นแบบผสมผสาน (Hybrid Approach) ระหว่างการเปิดตลาดให้ฝ่ายเดียวและ/หรือการเจรจาเรียกร้องและเสนอเปิดตลาด (Request and Offer)
- ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 17 เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะเร่งการเจรจาเปิดตลาดสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ หลังจากลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) แล้ว (ลงนามความตกลง RCEP เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563) และคาดหวังให้การเปิดตลาดสินค้าอ่อนไหวเพิ่มเติมได้ข้อสรุปโดยเร็ว
----------------------------------------------
สำนักเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
มิถุนายน 2564