ความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-จีน
(ASEAN-China Free Trade Agreement: ACFTA)
ความเป็นมา
- ผู้นำอาเซียนกับจีนได้ลงนามกรอบความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีน (Framework Agreement on ASEAN -China Comprehensive Economic Cooperation) เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 เพื่อเป็นกรอบและแนวทางสําหรับการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่ครอบคลุมทั้งเรื่องการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ ต่อมา อาเซียนและจีนสามารถสรุปการเจรจาและลงนามในความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ และความตกลงว่าด้วยการลงทุนแล้ว เมื่อปี 2547 ปี 2550 และปี 2552 ตามลำดับ
- ในการประชุมผู้นำอาเซียน-จีน เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2556 ผู้นำอาเซียนและจีนได้เห็นชอบแนวคิดการยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ทั้งนี้ การยกระดับฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีนให้มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาพการค้าในปัจจุบัน โดยครอบคลุมทั้งด้านการค้าสินค้า (กฎถิ่นกำเนิดสินค้า ข้อบทด้านพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า) การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ
- ในการประชุมผู้นำอาเซียน-จีน ครั้งที่ 27 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนและจีนได้ลงนามพิธีสารเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความตกลงที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบความตกลงฯ ระหว่างอาเซียนกับจีน (Protocol to Amend the Framework Agreement on Comprehensive Economic Co-operation and Certain Agreements thereunder between ASEAN and China: ACFTA Upgrading Protocol) และพิธีสารฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดทำ FTA อาเซียน-จีน
- จีนเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญของไทยและภูมิภาคอาเซียน จากสถิติการค้าของไทยนับตั้งแต่ที่ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ASEAN-China Free Trade Agreement: ACFTA) มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 จนถึงปัจจุบันพบว่า มูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยและจีนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 15,257 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2547 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ไทยจะมีความตกลง ACFTA เพิ่มขึ้นเป็น 79,606 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 422 หรือคิดเป็น 5 เท่า
- ส่วนหนึ่งที่ทำให้การค้าระหว่างไทยกับจีนเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปีเป็นผลจากการจัดทำความตกลง ACFTA ที่ปัจจุบันไทยและจีนได้ยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าระหว่างกันกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งครอบคลุมทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ส่งผลให้สินค้าไทยได้แต้มต่อด้านราคาจึงมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันการที่อาเซียนเปิดตลาดลดภาษีสินค้านำเข้าให้จีน ถือเป็นการสร้างโอกาสให้สินค้านำเข้ามีราคาต่ำลงเกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่สามารถลดต้นทุนด้านวัตถุดิบ
- สินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนภายใต้สิทธิประโยชน์ ACFTA อาทิ ผลไม้อื่นๆ (ลำไย เงาะ ลางสาด) ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ มันสำปะหลัง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง รถยนต์ขนส่งบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ทุเรียนสด พารา-ไซลีน และชิ้นเนื้อและเครื่องในไก่แช่แข็ง
- สินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนภายใต้สิทธิประโยชน์ ACFTA อาทิ แผ่นเหล็กชุบ/เคลือบ เครื่องเกรด/บดถนน เฟอร์นิเจอร์อื่นๆ และส่วนประกอบ ฟอยล์อะลูมิเนียม โคมไฟ เครื่องปรับอากาศที่ประกอบด้วยพัดลม แผ่นเหล็กรีดเจืออื่นๆ เครื่องทำน้ำร้อนด้วยไฟฟ้า และสิ่งก่อสร้างและส่วนประกอบของสิ่งก่อสร้าง
- ด้านการค้าบริการ อาเซียนและจีนได้ตกลงร่วมกันที่จะเปิดเสรีการค้าบริการแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยให้มีการลดหรือยกเลิกมาตรการที่เป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างคนในชาติกับคนต่างชาติ รวมทั้งไม่ออกมาตรการใหม่ที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติด้วย ปัจจุบันภายใต้ความตกลง ACFTA จีนเปิดตลาดภาคบริการให้ไทยเป็นจำนวนหลายรายการ อาทิ บริการให้คำปรึกษา สถาปัตยกรรม กฎหมาย บริการในสาขาการท่องเที่ยว โรงแรม บริการตัวแทนท่องเที่ยว/จัดการท่องเที่ยว และบริการขนถ่ายสินค้าทางทะเล
- ด้านการลงทุน ครอบคลุมด้านการส่งเสริมและอำนวยความสะดวก การให้ความคุ้มครองกับนักลงทุน และอยู่ระหว่างหารือเรื่องการเปิดเสรีการลงทุน
- ปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและขยายโอกาสทางการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่ค้าสำคัญ เพื่อปรับปรุงความตกลงการค้าให้มีความทันสมัยและครอบคลุม โดยการลดหรือยกเลิกภาษีเพิ่มเติมในสินค้าของประเทศสมาชิกที่ยังไม่มีการเปิดตลาด ล่าสุด อาเซียนและจีนเห็นพ้องที่จะเริ่มหารือการเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมภายใต้กรอบความตกลง ACFTA ในปี 2563 และจะร่วมกันพิจารณาปรับปรุงความตกลงฯ แบบองค์รวม (Holistic Manner) ซึ่งอาจครอบคลุมสาขาอื่นๆ อาทิ การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการลดอุปสรรคที่มิใช่ภาษี โดยคำนึงถึงพัฒนาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ความตกลง ACFTA เริ่มมีผลใช้บังคับ
สถานะล่าสุด
- อาเซียนและจีนสามารถใช้กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้าใหม่ (Revised PSRs) แล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562
- ขณะนี้ อาเซียนและจีนอยู่ระหว่างพิจารณาการเปิดเสรีการค้าสินค้าเพิ่มเติมและการเปิดเสรีและคุ้มครองการลงทุน ซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีภายใต้ ACFTA Upgrading Protocol
- นอกจากนี้ อาเซียนและจีนยังอยู่ระหว่างพิจารณาความร่วมมือในประเด็นอื่นๆ ที่สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน รวมทั้งหาแนวทางการแก้ปัญหาในทางปฏิบัติที่เกิดจากการบังคับใช้ความตกลงฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการทั้งอาเซียนและจีน
----------------------------------------------
สำนักเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
มิถุนายน 2564