ความเป็นมา
เมื่อการค้าระหว่างประเทศในโลกขยายตัวมากขึ้น อาเซียนจึงได้มุ่งกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกันจนมีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ (ฯพณฯ นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี) ในปีดังกล่าวผู้นำอาเซียนและรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ลงนามในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน จึงถือเป็นการประกาศการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
กลไกการลดภาษี
- กลไกการลดภาษีที่สำคัญของ AFTA คือระบบ CEPT (Common Effective Preferential Tariff Scheme) ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรแก่กันแบบต่างตอบแทน กล่าวคือ การที่จะได้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษีของประเทศอื่นสำหรับสินค้าชนิดใด ประเทศสมาชิกนั้นจะต้องลดภาษีสินค้าชนิดเดียวกันด้วย โดยต้องลดลงมาถึงร้อยละ ๒๐ จึงจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
- ทั้งนี้ CEPT Agreement ได้พัฒนาเป็น ATIGA (ASEAN Trade in Goods Agreement) ซึ่งครอบคลุมประเด็นด้านการค้านั้นๆ เช่น มาตรการที่มิใช่ภาษี มาตรการด้านศุลกากร SPS TBT ส่วนในเรื่องของกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ATIGA กำหนดให้สินค้าที่จะได้รับประโยชน์จากการลดภาษีจะต้องมีสัดส่วนมูลค่าที่เกิดขึ้นในอาเซียน (ASEAN Local Content) อย่างน้อยร้อยละ ๔๐ หรือมีการผลิตจนเกิดการเปลี่ยนพิกัดในระดับ ๔ หลัก (Change in Tariff Heading : CTH) และสามารถคำนวณวัตถุดิบในอาเซียนแบบสะสม (Cumulative Rules of Origin) โดยกำหนดอัตราขั้นต่ำของวัตถุดิบเท่ากับ ร้อยละ ๒๐
การค้าสินค้า
ประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม ๖ ประเทศ (ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน) ต้องลดภาษี ดังนี้
- ๑ มกราคม ๒๕๔๖ สินค้าจำนวนร้อยละ ๖๐ ของรายการสินค้าทั้งหมด ลดภาษีลงเหลือร้อยละ ๐
- ๑ มกราคม ๒๕๕๐ สินค้าจำนวนร้อยละ ๘๐ ของรายการสินค้าทั้งหมด ลดภาษีลงเหลือร้อยละ ๐
- ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๓ ไทยได้ลดภาษีสินค้าทั้งหมดลงเหลือร้อยละ ๐ แล้ว ยกเว้นสินค้าอ่อนไหว ๔ รายการ คือ กาแฟ มันฝรั่ง มะพร้าวแห้ง และไม้ตัดดอก เก็บภาษีนำเข้าร้อยละ ๕
สถานะล่าสุด
1. การวัดผลโดย AEC Scorecard ในภาพรวมถือว่าการมุ่งไปสู่ AEC มีความคืบหน้ามากพอสมควร และคาดว่าอาเซียนจะดำเนินมาตรการที่สำคัญได้ตามกำหนดเวลา ทั้งนี้ตั้งแต่อาเซียนเริ่มดำเนินการตาม AEC Blueprint (1ม.ค.2008-31ก.ค. 2013) อาเซียนดำเนินการได้ร้อยละ 79.43 โดยสิงคโปร์มีความคืบหน้าในการดำเนินการมากที่สุด (89.9) รองลงมาคือ ประเทศไทย (89.1) และประเทศสมาชิอีก 8 ประเทศมีความคืบหน้าอยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างกันมาก
2. แนวทางการดำเนินการต่อไปของอาเซียนภายหลังปี 2558 (AEC Post 2015) ผู้นำอาเซียนได้มอบหมายให้มีการจัดตั้งคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่อาวุโสจาก 3 เสาของประชาคมอาเซียน ร่วมกันพิจารณาและนำเสนอแนวทาง โดยในด้านเศรษฐกิจมีหลายสถาบันกำลังทำการศึกษาแนวทางของอาเซียนภายหลังการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 เช่น ERIA, ISEAS เป็นต้น
Agreements & Declarations
ASEAN Trade in Goods Agreement
เอกสารที่เกี่ยวข้อง