ความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (ASEAN Agreement on Electronic Commerce)
๑. ความเป็นมา
๑.๑ ประเด็นพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint 2025) ที่ผู้นำอาเซียนได้ให้การรับรองเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๘ โดยอาเซียนได้มีการจัดทำแผนงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ ๔๙ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๖๐ และที่ประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ ๑๖ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ ได้ให้การรับรองแผนงานดังกล่าว โดยหนึ่งในการดำเนินการตามแผนงานฯ คือการจัดทำความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (ASEAN Agreement on Electronic Commerce) โดยตั้งเป้าให้มีข้อสรุปและมีการลงนามภายในปี ๒๕๖๑
๑.๒ สมาชิกอาเซียนได้ประชุมเจรจาเพื่อจัดทำร่างความตกลงดังกล่าวจนแล้วเสร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑ โดยที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ครั้งที่ ๓/๔๙ เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑ มีมติให้เสนอร่างความตกลงดังกล่าวต่อที่ประชุม AEM ครั้งที่ ๕๐ ที่มีขึ้นในวันที่ ๒๖ สิงหาคม – ๑ กันยายน ๒๕๖๑ ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อพิจารณาให้การรับรอง และให้สมาชิกอาเซียนดำเนินการกระบวนการภายในที่จำเป็นสำหรับการลงนามความตกลงฯ ณ ที่ประชุม AEC Council ครั้งที่ ๑๗ ที่มีขึ้นในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ ๓๓ ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๑
๑.๓ สมาชิกอาเซียนได้ลงนามความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2562 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และความตกลงฯ มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 เมื่ออินโดนีเซียให้สัตยาบันต่อความตกลงฯ เป็นประเทศสุดท้าย
๒. วัตถุประสงค์
๒.๑ อำนวยความสะดวกให้กับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน
๒.๒ พัฒนาความเชื่อมั่นของการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
๒.๓ ส่งเสริมการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนาและขับเคลื่อนภูมิภาคไปสู่การเติบโตอย่างทั่วถึง
๓. สาระสำคัญ
๓.๑ ความตกลงว่าด้วยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนประกอบด้วย ๑๙ ข้อบท และ ๖ ข้อบทย่อย
๓.๒ สาระสำคัญของความตกลงฯ อาจแบ่งได้เป็น ๕ ส่วนสำคัญ ได้แก่
๓.๒.๑ การอำนวยความสะดวกทางการค้า ได้แก่
- การส่งเสริมการค้าไร้กระดาษ สมาชิกจะต้องขยายการใช้เอกสารการดำเนินการทางการค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และอำนวยความสะดวกการแลกเปลี่ยนเอกสารดังกล่าวผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ
- การยืนยันตัวบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ สมาชิกจะไม่ปฏิเสธความถูกต้องทางกฎหมายของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ และจะต้องมีมาตรการสำหรับการยืนยันตัวบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์บนพื้นฐานของแนวปฏิบัติระหว่างประเทศโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
๓.๒.๒ การพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
- การคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ สมาชิกจะต้องมีมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ในระดับที่ใกล้เคียงกับความคุ้มครองผู้บริโภคของการค้าในรูปแบบอื่น
- การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ สมาชิกจะต้องมีมาตรการในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ โดยคำนึงถึงหลักการ แนวทาง และหลักเกณฑ์สากล
- ความมั่นคงไซเบอร์ สมาชิกให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสามารถของหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องความมั่นคงไซเบอร์ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือในอาเซียนเกี่ยวกับเรื่องนี้
- ความโปร่งใส สมาชิกจะต้องเผยแพร่มาตรการที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลออนไลน์ หากสามารถทำได้
- กรอบระเบียบข้อบังคับภายในประเทศ สมาชิกจะต้องมีมาตรการที่กำกับดูแลธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยคำนึงถึงอนุสัญญาระหว่างประเทศหรือกฎหมายแม่แบบที่เกี่ยวข้องกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
๓.๒.๓ การส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน
- การถ่ายโอนข้อมูลข้ามพรมแดนด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ สมาชิกตกลงที่จะดำเนินการเพื่อลดอุปสรรคต่อการไหลเวียนของข้อมูลข้ามพรมแดนเพื่อส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยขึ้นอยู่กับการป้องกันที่เหมาะสมเพื่อประกันความมั่นคงและความลับของข้อมูล และเพื่อวัตถุประสงค์ทางนโยบายสาธารณะ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงสาขาบริการทางการเงิน
- การไม่ต้องตั้งอุปกรณ์ประมวลผลไว้ในประเทศ สมาชิกตกลงว่าจะไม่กำหนดให้ต้องตั้งอุปกรณ์ประมวลผล หรือเซิร์ฟเวอร์ ไว้ในประเทศ ในฐานะเงื่อนไขในการทำธุรกิจ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงสาขาบริการ
ทางการเงิน และขึ้นกับกฎระเบียบภายในประเทศ
- การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ สมาชิกให้ความสำคัญและส่งเสริมระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ปลอดภัยและมั่นคง มีประสิทธิภาพ และทำงานร่วมกันได้
- โลจิสติกส์ สมาชิกให้ความสำคัญกับโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนที่มีประสิทธิภาพ โดยจะพยายามลดต้นทุน และปรับปรุงความเร็วและความน่าเชื่อถือของห่วงโซ่อุปทานให้ดีขึ้น
๓.๒.๔ ความร่วมมือระหว่างสมาชิก และการมีส่วนรวมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- สมาชิกจะพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันต่อไป โดยผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ การจัดโครงการเพื่อพัฒนากฎระเบียบภายในประเทศ รวมทั้งความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ฉ้อฉล
- สมาชิกจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และรับฟังความเห็นในการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
๓.๒.๕ ข้อบททั่วไป ที่เกี่ยวข้องกับการนำความตกลงฯ ไปบังคับใช้ ได้แก่ คำนิยาม วัตถุประสงค์ ขอบเขต ความสัมพันธ์กับความตกลงอื่น หลักการ ข้อยกเว้น การระงับข้อพิพาท การจัดการเชิงสถาบัน การทบทวน การแก้ไข และการมีผลใช้บังคับ
----------------------------------------------
สำนักเจรจาการค้าบริการและการลงทุน
กรกฎาคม 2565
สามารถค้นหาสำเนาของความตกลงฯ และติดตามสถานะของการใช้บังคับได้ที่ http://agreement.asean.org/agreement/detail/368.html