ความตกลงการค้าเสรี ไทย-ศรีลังกา
(Thailand-Sri Lanka Free Trade Agreement: SLTFTA)
ความเป็นมา
- รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ได้เดินทางเยือนศรีลังกาอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยคณะภาครัฐและภาคเอกชน เมื่อวันที่ 8 – 12 มีนาคม 2559 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกัน และได้เข้าพบและหารือกับผู้นำระดับสูงของศรีลังกา ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุทธศาสตร์การพัฒนาและการค้าระหว่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพื้นฐาน ซึ่งไทยและศรีลังกาเห็นพ้องร่วมกันว่า การเจรจาภายใต้กรอบ BIMSTEC ที่ทั้งสองประเทศเป็นสมาชิกไม่มีความคืบหน้ามากนัก จึงเห็นควรจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ระหว่างไทยและศรีลังกาควบคู่กันไป เพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายมูลค่าการค้าและการลงทุนให้บรรลุเป้าหมายการค้าระหว่างกันที่ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2563
- เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2561 นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) และประธานาธิบดีศรีลังกาได้ร่วมประกาศเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย – ศรีลังกา (Sri Lanka – Thailand Free Trade Agreement: SLTFTA) อย่างเป็นทางการ และเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ศรีลังกาได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม FTA ไทย – ศรีลังกา ครั้งที่ 1 โดยทั้งสองฝ่ายได้จัดทำแผนการเจรจา FTA ไทย – ศรีลังกา
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
การจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับศรีลังกาจะเป็นการสร้างโอกาสให้กับไทยในการขยายการค้าและการลงทุนไปยังตลาดใหม่ในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยศรีลังกามีศักยภาพทางการค้าและการลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากศรีลังกาตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์กลางมหาสมุทรอินเดีย มีท่าเรือสำคัญ คือ ท่าเรือโคลัมโบ ซึ่งเป็นช่องทางที่ไทยสามารถกระจายสินค้าไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ในขณะเดียวกัน ไทยสามารถเป็นช่องทางขยายการค้าของศรีลังกาไปสู่อาเซียนได้ นอกจากนี้ ศรีลังกายังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีน ซึ่งแสดงให้เห็นศักยภาพของศรีลังกาในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาค และศรีลังกายังมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ อาทิ อัญมณี และสัตว์น้ำ ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทยได้ ปัจจุบัน ศรีลังกามีนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับภาคอุตสาหกรรมและบริการ จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนในกิจการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมการเกษตร การประมง อัญมณีและเครื่องประดับ และการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง
สถานะล่าสุด
- เมื่อวันที่ 19-21 กันยายน 2561 ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม FTA ไทย – ศรีลังกา ครั้งที่ 2 ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนและหารือในร่างบทความตกลงฯ จำนวน 11 ข้อบท จาก 14 ข้อบท ซึ่งครอบคลุมทั้งการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดย 1) ด้านการค้าสินค้า สองฝ่ายเห็นพ้องให้เจรจาทุกรายการสินค้า เพื่อให้มีการลด/ยกเลิกภาษีระหว่างกัน โดยอาจมีข้อยกเว้นสำหรับสินค้าอ่อนไหว 2) ด้านการค้าบริการ สองฝ่ายสามารถหาข้อสรุปได้ในเกือบทุกข้อบท และตกลงที่จะแลกเปลี่ยนข้อเรียกร้องการเปิดตลาดบริการ (Request List) ในการประชุมครั้งต่อไป 3) ด้านการลงทุน สองฝ่ายได้ข้อสรุปในเรื่องโครงสร้างข้อบทการลงทุนว่าควรครอบคลุมทั้งประเด็นการเปิดเสรี การส่งเสริม การอำนวยความสะดวก และการคุ้มครองการลงทุน และ 4) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้ใช้ MOU ว่าด้วยการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับศรีลังกา ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือ 10 สาขา เป็นพื้นฐาน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศและรองรับการเปิดเสรีระหว่างกัน
- ศรีลังกามีกำหนดเป็นเจ้าภาพการประชุมเจรจา FTA ไทย – ศรีลังกา ครั้งที่ 3 ณ กรุงโคลัมโบ แต่เนื่องจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศและการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในของศรีลังกาทำให้การเจรจาการค้าเสรีไทย-ศรีลังกา หยุดชะงักไปช่วงเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ไทยพร้อมที่จะเข้าร่วมการประชุมเจรจาจัดทำ FTA ไทย – ศรีลังกา ในรอบต่อไปทันทีที่ฝ่ายศรีลังกาพร้อมกลับเข้าสู่การเจรจาจัดทำ FTA เพื่อขยายโอกาสและลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันต่อไป
----------------------------------------------
สำนักเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
มิถุนายน 2564