ความตกลงการค้าเสรี ไทย-ปากีสถาน
(Thailand-Pakistan Free Trade Agreement: PATHFTA)
ความเป็นมา
- เมื่อวันที่ 12-13 สิงหาคม 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ไทยและปากีสถานประกาศเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ปากีสถาน (PATHFTA) อย่างเป็นทางการระหว่างการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee: JTC) ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 3 โดยทั้งสองฝ่ายได้มีการประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 1 (The 1st Meeting of Pakistan-Thailand Trade Negotiations Committee: PATHTNC) เมื่อวันที่ 29 กันยายน – 1 ตุลาคม 2558 ณ กรุงเทพ ซึ่งไทยและปากีสถานตกลงให้ความตกลง PATHFTA เป็นความตกลงที่ครอบคลุมทั้งด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าอื่นๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรการทางเทคนิคที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า การเยียวยาทางการค้า เป็นต้น โดยจะเจรจาด้านการค้าสินค้าให้แล้วเสร็จก่อน หลังจากนั้นจึงจะเริ่มเจรจาด้านอื่นๆ ต่อไป
- ที่ผ่านมา ไทยและปากีสถานได้มีการประชุม PATHTNC ไปแล้ว 9 รอบ ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพการเจรจารอบล่าสุด เมี่อวันที่ 22 – 24 พฤศจิกายน 2560 ทั้งนี้ การเจรจาความตกลง PATHFTA ในส่วนของการค้าสินค้าประกอบด้วยคณะทำงานด้านต่างๆ จำนวน 7 คณะ ได้แก่ 1) คณะทำงานด้านการค้าสินค้า (WG-TIG) 2) คณะทำงานด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้า (WG-RoO) 3) คณะทำงานด้านกระบวนการทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Working Group on Customs Procedures and Trade Facilitations: WG-CPTF) 4) คณะทำงานด้านมาตรการและอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Working Group on Technical Barriers to Trade: WG-TBT) 5) คณะทำงานด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Working Group on Sanitary and Phytosanitary: WG-SPS) 6) คณะทำงานด้านการเยียวยาทางการค้า (Working Group on Trade Remedy: WG-TR) และ 7) คณะทำงานด้านประเด็นกฎหมาย (Working Group on Legal and Institutional Issues: WG-LII)
- ในการเจรจา 9 รอบที่ผ่านมา ไทยและปากีสถานได้เจรจาข้อบทความตกลงด้านการค้าสินค้าได้เกือบทั้งหมดแล้ว เหลือเฉพาะข้อบทด้านกระบวนการทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า สำหรับประเด็นที่ไทยและปากีสถานยังไม่สามารถหาข้อยุติได้คือประเด็นการเปิดตลาดสินค้า ซึ่งที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้มีการแลกเปลี่ยนข้อเสนอการเปิดตลาดแบบเฉพาะรายการสินค้าสำคัญ (Prioritized Products) 200 รายการ และแบบเต็มจำนวน (Full Offer List) กันแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย
- ปากีสถานมีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเจรจาความตกลง PATHFTA ครั้งที่ 10 แต่การเจรจาขาดช่วงไปตั้งแต่ปลายปี 2560 เนื่องจากปากีสถานมีการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงกลางปี 2561 การปิดน่านฟ้าปากีสถานจากความขัดแย้งกับอินเดียในช่วงต้นปี 2562 และการปรับโยกย้ายข้าราชการของปากีสถานในช่วงปลายปี 2562 รวมทั้งสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ในปี 2563 โดยในช่วงที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายได้มีการประชุมคณะทำงานกลุ่มย่อยด้านการค้าสินค้าผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) แทน
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดทำ FTA ไทย – ปากีสถาน
ปากีสถานเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ เป็นตลาดใหญ่ มีประชากรกว่า 220 ล้านคน มากเป็นอันดับ 5 ของโลก มีทรัพยากรที่สามารถเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมการผลิตของไทย เช่น อัญมณี และสัตว์น้ำ เป็นต้น รวมทั้ง มีนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) ที่ต้องการส่งเสริมและขยายความสัมพันธ์กับประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ปากีสถานสามารถเป็นประตูการค้าให้ไทยไปสู่ภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และเอเชียกลาง โดยอยู่ระหว่างดำเนินโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (China-Pakistan Economic Corridor: CPEC) มูลค่า 6,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ของจีน เพื่อเชื่อมต่อภาคตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถานกับภาคตะวันตกของจีน หากใช้ปากีสถานเป็นฐานการผลิตก็จะช่วยประหยัดต้นทุนในการขนส่งสินค้าไปยังภูมิภาคใกล้เคียงข้างต้นได้ และสินค้าที่ผลิตก็จะได้รับการรับรองฮาลาลได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมทั้งจะได้รับสิทธิพิเศษ GSP+ จากสหภาพยุโรป
สถานะล่าสุด
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 ไทยและปากีสถานจัดประชุมเจรจาความตกลง PATHFTA รอบพิเศษผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อติดตามความคืบหน้าและกำหนดแผนการเจรจาฯ ของคณะทำงานกลุ่มย่อยต่างๆ ภายใต้ความตกลง PATHFTA โดยทั้งสองฝ่ายตกลงกำหนดแผนการเจรจาฯ (Work Plan) ของคณะทำงานกลุ่มย่อยต่างๆ ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม 2564 เพื่อเร่งเจรจาประเด็นคงค้าง โดยเฉพาะในเรื่องการเปิดตลาด กฎถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมาย ให้คืบหน้าและหาข้อสรุปได้โดยเร็วที่สุด
ข้อบทความตกลง PATHFTA ที่สามารถสรุปผลการเจรจาได้แล้ว มีดังนี้
- ข้อบทบัญญัติเบื้องต้น (Initial Provisions)
- ข้อบทคำนิยามทั่วไป (General Definitions)
- ข้อบทการค้าสินค้า (Trade in Goods)
- ข้อบทด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin)
- ข้อบทด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures)
- ข้อบทด้านมาตรการทางเทคนิคที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า (Technical Barriers to Trade)
- ข้อบทด้านการเยียวยาทางการค้า (Trade Remedies)
- ข้อบทด้านความโปร่งใส (Transparency)
- ข้อบทด้านการบริหารจัดการและสถาบัน (Administration and Institutional Provisions)
- ข้อบทด้านการระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement)
- ข้อยกเว้น (Exceptions)
- บทบัญญัติสุดท้าย (Final Provision)
ข้อบทความตกลง PATHFTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจา มีดังนี
- ข้อบทด้านกระบวนการทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Customs Procedures and Trade Facilitation)
แผนการเจรจาฯ (Work Plan) ของคณะทำงานกลุ่มย่อยต่างๆ ในปี 2564
- คณะทำงานด้านกระบวนการทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้าในเดือนมิถุนายน
- คณะทำงานด้านการค้าสินค้าในเดือนกรกฎาคม
- คณะทำงานด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้าในไตรมาสที่ 3
- คณะทำงานด้านมาตรทางเทคนิคที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าในไตรมาสที่ 3
- คณะทำงานด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชในไตรมาสที่ 3
- คณะทำงานด้านการเยียวยาทางการค้าในไตรมาสที่ 4
----------------------------------------------
สำนักเอเชีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
มิถุนายน 2564