การจัดทำ FTA ไทย-สหภาพยุโรป
- ความเป็นมา
- ไทยได้ร่วมกับอาเซียนในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป (ASEAN-EU FTA) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 โดยมีการเจรจารวม 7 ครั้ง และการเจรจาฯ ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 4-5 มีนาคม 2552 ณ ประเทศมาเลเซีย ทั้งสองฝ่ายได้ประกาศหยุดพักการเจรจา เนื่องจากทั้งสองฝ่ายเห็นว่าการเจรจามีพัฒนาการค่อนข้างช้า รวมทั้งฝ่ายสหภาพยุโรปมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศเรื่องนโยบายการยอมรับเมียนมา ขณะที่สมาชิกอาเซียนต่าง ๆ ยังมีความแตกต่างในระดับการพัฒนาทำให้มีปัญหาในเรื่องระดับการเปิดตลาดสินค้าและบริการที่อาเซียนไม่สามารถตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป
- สหภาพยุโรปจึงปรับแนวทางเป็นการเจรจาในระดับทวิภาคีกับสมาชิกอาเซียนที่พร้อมเจรจา 3 ประเทศแรก ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย และเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้เห็นชอบอย่างเป็นทางการให้เปลี่ยนแนวทางการเจรจาเป็นแบบทวิภาคีกับประเทศสมาชิกอาเซียน 3 ประเทศดังกล่าว
- ไทยและสหภาพยุโรปเริ่มการเจรจา FTA ระหว่างกันเมื่อปี 2556 และมีการประชุมเจรจาแล้วทั้งสิ้น 4 รอบ โดยครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2557 แต่ด้วยสถานการณ์ในไทย สหภาพยุโรปจึงขอชะลอการเจรจาไว้เมื่อปี 2557
- สืบเนื่องจากพัฒนาการทางการเมือง (Political Roadmap) ของไทยที่ชัดเจน เมื่อปี 2560 สหภาพยุโรปได้มีข้อมติให้ฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทยในทุกระดับ และให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณาความเป็นไปได้ในการฟื้นการเจรจา FTA กับไทย และต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม 2562 หลังจากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลของไทย คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศได้มีมติให้สหภาพยุโรปมีการหารือเพื่อฟื้นความสัมพันธ์กับไทยในทุกมิติ รวมถึงการดำเนินการไปสู่การฟื้นการเจรจา FTA ที่มีเป้าหมายสูงและรอบด้านกับไทย (taking steps towards the resumption of negotiations on an ambitious and comprehensive Free Trade Agreement)
- ขอบเขตการเจรจา
- ครอบคลุมเรื่องการเปิดตลาดสินค้า บริการ การลงทุน พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า การคุ้มครองการลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ ความโปร่งใส การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน (สิ่งแวดล้อมและแรงงาน) การค้าดิจิทัล พลังงานและวัตถุดิบ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ และข้อบททางสถาบัน (Institutional Provisions)
- การดำเนินการที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการฟื้นการเจรจา
- การเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ถูกระงับมานานตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายต่างปรับเปลี่ยนแนวทางการเจรจา นโยบาย กฎหมาย และกฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุน รวมทั้งระดับความคาดหวังจากการเจรจา ไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมการสำหรับการฟื้นการเจรจาในเรื่องต่าง ๆ
- กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อยู่ระหว่างดำเนินการที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการเกี่ยวกับการฟื้นการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป ดังนี้
- การจ้างศึกษา มอบสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยอิสระศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการเจรจา รวมทั้งแนวทางการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และได้เชิญภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมให้ความเห็นเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายจากการเจรจาฯ เพื่อประโยชน์ในภาพรวมสูงสุดกับประเทศ ทั้งนี้ กรมฯ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาบนเว็บไซต์ของกรม (dtn.go.th) แล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563
- การจัดสัมมนารับฟังความเห็น ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดระหว่างเดือนกันยายน 2562-กันยายน 2563 รวม 7 ครั้ง[1] และการประชุมกลุ่มย่อย (focus group) 6 ครั้ง[2] โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาคเอกชน สมาคมธุรกิจ เกษตรกร ผู้บริโภค ภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ และกลุ่มนักลงทุนชาวต่างชาติกว่า 1,800 คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น
- ภาพรวม ผู้เข้าร่วมเห็นควรเร่งการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป แต่ยังมีข้อกังวลในบางประเด็น เช่น ทรัพย์สินทางปัญญาและการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยาและสาธารณสุข การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ (UPOV 1991) การนำเข้าและการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น และกลไกการการระงับข้อพิพาทด้านการลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
- ภาคเอกชน สนับสนุนให้เริ่มการเจรจาโดยเร็ว เพื่อขยายโอกาสทางการค้า รวมทั้งรักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่สหภาพยุโรปสรุปผลการเจรจาแล้วกับเวียดนามและสิงคโปร์ พร้อมทั้งเห็นว่าเอกชนจำเป็นต้องยกระดับมาตรฐานการผลิตให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสินค้าสหภาพยุโรปที่สูง รวมทั้งปรับตัวจากการแข่งขันที่อาจเพิ่มขึ้น
- ภาคการเกษตร กังวลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสินค้าเกษตรบางชนิด เช่น โคนม โคเนื้อ ผลไม้ และต้องการมาตรการที่ช่วยการปรับตัวและช่วยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกองทุน FTA ที่เข้าถึงและสามารถใช้ประโยชน์ได้ง่ายและแก้ไขปัญหาระยะสั้นได้อย่างทันท่วงที
- ภาคประชาสังคม กังวลว่าพันธกรณีเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การขยายอายุสิทธิบัตรยา การคุ้มครองข้อมูลการขึ้นทะเบียนยาอาจกระทบการเข้าถึงยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตยาชื่อสามัญออกสู่ตลาด การยกเลิกแต้มต่อในเรื่องการจัดซื้อยาโดยรัฐ ความเสี่ยงต่อการถูกบริษัทต่างชาติฟ้องร้องรัฐจากการดำเนินมาตรการเพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991)
- การยกร่างกรอบการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (อยู่ระหว่างดำเนินการ) โดยได้จัดประชุมหน่วยงานภาครัฐ และหารือรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อร่างกรอบการเจรจาฯ รวมทั้งแจ้งความคืบหน้าการดำเนินการเพื่อฟื้นการเจรจาฯ จำนวน 4 ครั้ง เมื่อวันที่ 26 และ 30 พฤศจิกายน 2563 18 มกราคม 2564 และ 27 พฤษภาคม 2564 ตามลำดับ รวมทั้งได้จัดประชุมกลุ่มย่อยเพื่อหารือเพิ่มเติมในประเด็นต่าง ๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรมฯ ได้นำความเห็นที่ได้รับทั้งในที่ประชุม และที่ได้รับแจ้งเป็นเอกสารทางการจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมมาใช้ประกอบการปรับปรุงร่างกรอบการเจรจาเพิ่มเติม โดยในบางประเด็นความเห็นที่กรมฯ ได้รับอาจแตกต่างกันระหว่างหน่วยงาน/องค์กร ซึ่งกรมฯ ได้พยายามปรับปรุงร่างกรอบฯ ให้สะท้อนความเห็นของหน่วยงาน และตามความเหมาะสมมากที่สุด
- การหารือกับสหภาพยุโรปเกี่ยวกับระดับความคาดหวังการเจรจาร่วมกัน (อยู่ระหว่างดำเนินการ) ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติของประเทศที่จะจัดทำ FTA และเมื่อสรุปผลการจัดทำเอกสารดังกล่าวกับสหภาพยุโรปแล้ว จะรายงานผลพร้อมร่างกรอบการเจรจาฯ ที่ปรับปรุงให้สอดคล้องตามเป้าหมายการเจรจาของทั้งสองฝ่าย รวมถึงความเห็นที่ได้รับจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอต่อระดับนโยบายต่อไป
- การดำเนินการต่อไป
- การเสนอระดับนโยบาย รวบรวมผลการศึกษา ผลการรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน และร่างกรอบการเจรจาเสนอต่อระดับนโยบาย ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามีมติเรื่องการฟื้นการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป (คาดว่าภายในปี 2565)
---------------------------------------------
สำนักยุโรป
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
สิงหาคม 2565
[1] การจัดหารือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในส่วนภูมิภาคช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2562 ได้แก่ ภาคตะวันออก ณ จังหวัดชลบุรี (10 ต.ค.) ภาคเหนือ ณ จังหวัดเชียงใหม่ (22 ต.ค.) ภาคใต้ ณ จังหวัดสงขลา (28 ต.ค.) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดขอนแก่น (7 พ.ย.) และการจัดหารือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 62 รวมทั้งจัดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาจำนวน 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 62 และวันที่ 22 ก.ย. 63
[2] การจัดหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มย่อย (Focus group) 6 ครั้ง ได้แก่ (1) ภาคเอกชน (สินค้า) (2) ภาคเอกชน (บริการและลงทุน) (3) ภาคเกษตร (4) องค์กรภาคประชาชน (5) หน่วยงานภาครัฐ และ (6) นักลงทุนต่างชาติ