การเจรจาจัดทำ FTA กับ สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union :EAEU)
- ความเป็นมา
- สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union: EAEU) มีสมาชิก 5 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน โดยมีคณะกรรมาธิการสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Commission : EEC) เป็นองค์กรทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของ EAEU[1]
- EAEU ถือเป็นภูมิภาคสำคัญที่มีบทบาทอย่างมากในประชาคมโลก[2] เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีจำนวนประชากรรวมกันกว่า 180 ล้านคน และเป็นหนึ่งในตลาดใหม่ที่ไทยให้ความสำคัญในฐานะที่เป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาคและ เป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ
- ในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย (นายดมิทรี เมดเวเดฟ) เยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2558 และนายกรัฐมนตรีไทย (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เดินทางเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2559 นั้น ทั้งสองฝ่ายได้หารือและเห็นพ้องว่า การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ระหว่างไทยและ EAEU จะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันการค้าและการลงทุนระหว่างกัน
- การดำเนินการที่เกี่ยวข้อง
- กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการแสดงเจตจำนงในการจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับ EAEU (มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 17 สิงหาคม 2559) และรัฐบาลไทยได้ส่งหนังสือแสดงความจำนงข้างต้นต่อประธาน EEC แล้ว โดยปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ EEC
- เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย และได้จัดตั้งคณะทำงานร่วม (The Joint Working Group on Cooperation between the government of the Kingdom of Thailand and the Eurasian Economic Commission (EEC)) ในระดับรัฐมนตรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านการค้าและ การลงทุนระหว่างสองฝ่าย และหารือเกี่ยวกับโอกาสในการขยายการค้าและการลงทุน รวมทั้งความร่วมมือในสาขาที่จะเป็นการปูทางไปสู่การจัดทำ FTA ระหว่างกันในอนาคตด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดประชุมแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ณ กรุงมอสโก และครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกันยายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย และรัฐมนตรีด้านการบูรณาการและเศรษฐกิจมหภาคของ EEC เป็นประธานร่วม
- สถานะล่าสุด
- เพื่อให้การเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างไทยและ EAEU ในอนาคตเป็นประโยชน์โดยรวมต่อประเทศไทยอย่างแท้จริง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงได้ดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาโครงการจ้างศึกษาการจัดทำ FTA ระหว่างไทยและ EAEU โดยขณะนี้อยู่ระหว่างทำการศึกษา ตลอดจนการรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อการเจรจาดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2565
-----------------------------
สำนักยุโรป
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
สิงหาคม 2565
[1] คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเชีย (Eurasian Economic Commission: EEC) ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหาร ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานและจัดทำข้อเสนอต่างๆ อาทิ การจัดทำระบบการค้ากับประเทศที่สาม นโยบายการแข่งขันทางการค้า นโยบายทางการเงิน และภาษีศุลกากรและกฎระเบียบที่มิใช่ภาษี เป็นต้น
[2] ข้อมูลล่าสุดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในปี 2564 ประมาณการว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของ EAEU มีมูลค่า 1.98 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 2.5% ต่อปี