การเจรจา FTA ไทย-ชิลี รอบที่ 4 ณ กรุงซานติอาโก ชิลี
นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หัวหน้าคณะเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี ไทย-ชิลี เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้แทนไทยเดินทางไปเจรจาเพื่อทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่าง ไทย-ชิลี ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 19 - 21 มีนาคม 2555 ณ กรุงซานติอาโก ประเทศชิลี การเจรจาครั้งนี้มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ และทั้งสองฝ่ายยืนยันเป้าหมายที่จะสรุปผลการเจรจาภายในเดือนสิงหาคม 2555 ความสำเร็จในการเจรจาทำความตกลงนี้จะส่งผลในการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีซึ่งครบรอบ 50 ปีในปีนี้ สู่ความเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและชิลี
ชิลีเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจจากการใช้นโยบายเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน เศรษฐกิจชิลีใหญ่เป็นอันดับสองในละตินอเมริการองจากบราซิล และชิลีมีเครือข่ายทางธุรกิจการค้าและการลงทุนที่กว้างขวางในภูมิภาคนี้ รัฐบาลชิลีได้กำหนดเป้าหมายที่จะเร่งพัฒนาประเทศสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว (developed country) และเพิ่มรายได้ต่อหัวของประชากรจาก 16,172 เหรียญสหรัฐฯ ในปัจจุบัน เป็น 20,000 เหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2563 โดยรัฐบาลชิลีมีนโยบายที่ชัดเจนในการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTAS) กับประเทศคู่ค้าทั่วโลก และได้ทำความ ตกลงแล้วกับ 60 ประเทศ รวมทั้งกับ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ จีน มาเลเซีย และเวียดนาม ปัจจุบัน ชิลีเป็นหนึ่งในเก้าประเทศสมาชิกเอเปคที่อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลง TPP (Trans Pacific Strategic Partnership) ซึ่งเป็นความตกลงเขตการค้าเสรียุคใหม่ที่มีมาตรฐานสูง โดยสหรัฐฯมีบทบาทนำในกลุ่ม และมีสมาชิกอาเซียนที่เป็นสมาชิกเอเปครวมสี่ประเทศเข้าร่วมด้วย ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม
การเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทยและชิลี เริ่มขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2554 ครอบคลุมการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากร มาตรการปกป้องและเยียวยาทางการค้า และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆที่เห็นชอบร่วมกัน เช่น ความร่วมมือด้านการเกษตร ป่าไม้ เหมืองแร่ การพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การท่องเที่ยว โลจิสติกส ์และการอำนวยความสะดวกทางการค้า เป็นต้น
ในด้านการเจรจาเปิดตลาดสินค้า ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันเกี่ยวกับกรอบและรูปแบบการเปิดตลาดสินค้า โดยได้มีการแลกเปลี่ยนข้อเสนอและเรียกร้องในการลดภาษีระหว่างกัน สินค้าสำคัญๆที่ไทยคาดว่าจะได้ประโยชน์ในการเข้าตลาดชิลี ได้แก่ รถปิคอัพและรถยนต์โดยสาร ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า สิ่งทอและเสื้อผ้า ปูนซีเมนต์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารกระป๋องและอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจของไทยและชิลีต่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เพราะชิลีมุ่งเน้นในด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่และธุรกิจบริการเป็นหลัก ในขณะที่ไทยมีความสามารถในการผลิตสินค้าอย่างหลากหลาย และสินค้าไทยได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคชาวชิลีเป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี การที่ชิลีได้ทำความตกลง FTAs กับหลายประเทศ ทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศเหล่านั้นในด้านภาษีศุลกากรที่ชิลีเรียกเก็บจากไทยสูงกว่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของไทยในตลาดชิลี การทำความตกลง FTA ระหว่างไทยกับชิลี จึงมีเป้าหมายที่จะช่วยลดผลกระทบและสร้างโอกาสใหม่ๆในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดนี้ และชิลีสามารถที่จะเป็นฐานสำหรับการขยายเครือข่ายการค้าและการลงทุนของไทยต่อไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาคละตินอเมริกาด้วย
นอกจากการเจรจา FTA ไทย – ชิลี แล้ว คณะผู้เจรจาของประเทศไทยได้พบและหารือกับนาย Juan Pablo Mir ประธานบริษัท Mitsubishi Motor Corporation Chile ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำเข้ารถยนต์จากหลายประเทศ รวมทั้งจากไทย และอยู่ในกลุ่มบริษัทใหญ่ที่ทำธุรกิจหลายด้าน นาย Mir ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดรถยนต์ในชิลี โดยกล่าวว่าชิลีเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูงและมีการใช้รถปิคอัพในอุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบัน ไทยเป็นแหล่งที่ชิลีนำเข้ารถยนต์ (ทั้งรถปิคอัพและรถยนต์ประเภทอื่นๆ) สูงเป็นอันดับ 5 โดยชิลีนำเข้ารถยนต์จากประเทศต่างๆเรียงตามลำดับคือ เกาหลีใต้ (33%) ญี่ปุ่น (14%) จีน (13%) เม็กซิโก (10%) ไทย (7%) และอินเดีย (6%) ในส่วนของรถปิคอัพ ไทยครองแชมป์เป็นอันดับ 1 ในตลาดชิลีอย่างต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ 32 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมด
นาย Mir ได้เปรียบเทียบกับกรณีของเกาหลีใต้ซึ่งทำความตกลง FTA กับชิลีตั้งแต่ปี 2546 และนับตั้งแต่มีความตกลงดังกล่าว การนำเข้ารถยนต์จากเกาหลีใต้ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เพราะเกาหลีใต้ได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากรที่ลดลงจากร้อยละ 6 เป็นร้อยละศูนย์ และมุ่งขยายตลาดอย่างแข็งขัน ภายในระยะเวลา 10 ปีนับตั้งแต่ความตกลงฯมีผลใช้บังคับ ชิลีนำเข้ารถยนต์จากเกาหลีใต้เพิ่มสูงขึ้นสองเท่าตัว เกาหลีใต้มีสัดส่วนตลาดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 18.8 เมื่อปี 2546 เป็นร้อยละ 32.6 ในปี 2554 ข้ามแซงประเทศคู่แข่งสำคัญคือญี่ปุ่นและจีน นาย Mir จึงได้ให้ความสนับสนุนการเจรจาจัดทำความตกลง FTA ระหว่างไทยกับชิลี และเห็นว่า ไทยควรเร่งเจรจากับชิลีให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อให้สินค้าไทยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรซึ่งจะทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันในตลาดชิลีได้มากขึ้น รวมทั้งรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถปิคอัพซึ่งไทยเป็นผู้นำตลาดอยู่แล้วในปัจจุบัน จะขยายสัดส่วนตลาดได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นโอกาสที่จะขยายการส่งออกรถยนต์โดยสาร (ปัจจุบันมีการนำเข้าจากไทยเป็นสัดส่วนต่ำเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น) รวมทั้งชิ้นส่วนยานยนต์ด้วย
สำนักอเมริกา ยุโรป และแอฟริกา
มีนาคม 2555