นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย และนายเซบัสเตียน ปิเญร่า เอเชนีก ประธานาธิบดีประเทศชิลีได้พบหารือกันเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๕ ในช่วงการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒๐ ที่นครวลาดิวอสต็อก ประเทศรัสเซีย
ผู้นำทั้งสองฝ่ายแสดงความชื่นชมต่อพัฒนาการสำคัญในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับชิลี และมีความยินดีที่ได้ทราบว่า สารัตถะและงานด้านเทคนิคของการเจรจาได้ลุล่วงแล้ว ผู้นำทั้งสองมีเป้าประสงค์ร่วมกันที่จะสรุปผลการเจรจาความตกลงอันเป็นประวัติศาสตร์ของทั้งสองประเทศ เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการภายในที่จำเป็น ผู้นำทั้งสองคาดว่า จะสามารถลงนามในความตกลงได้ก่อนสิ้นปีนี้
ความตกลงการค้าเสรีนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับชิลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสครบรอบ ๕๐ ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปีหน้า ผู้นำทั้งสองตระหนักว่าความตกลงการค้าเสรีจะก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันต่อทั้งสองประเทศ และเปิดโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ระหว่างไทยกับชิลี โดยครอบคลุมการค้าสินค้า บริการ รวมทั้งกระบวนการทางศุลกากร มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช การเยียวยาทางการค้า และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ความหลากหลายของสินค้าส่งออกและนำเข้าของไทยและชิลีแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศส่งเสริมซึ่งกันและกัน ดังนั้น การบรรลุผลการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างกันจะช่วยขยายการค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่าย เพราะจะช่วยสร้างตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันจะนำไปสู่ความเจริญเติบโตและความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นไปอีก
นอกจากนั้น ความตกลงการค้าเสรีจะทำให้ทั้งสองประเทศสามารถเป็นเส้นทางส่งออกและนำเข้าสินค้า เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการระหว่างทั้งสองภูมิภาค ในบริบทนี้ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ทั้งจากเครือข่ายทางการค้าที่ครอบคลุมและจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างชิลีกับประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่มีประชากรกว่า ๕๐๐ ล้านคน ในขณะเดียวกัน ประเทศชิลีจะได้ประโยชน์จากการใช้ไทยเป็นประตูการค้าสู่ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ
การค้าทวิภาคี
ชิลีเป็นประเทศคู่ค้าที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ ๓ ของไทย ประเภทของสินค้าส่งออกและนำเข้าของทั้งสองประเทศส่งเสริมซึ่งกันและกัน เนื่องจากชิลีนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมจากไทย ส่วนไทยนำเข้าสินค้าที่ผลิตจากทรัพยากรและวัตถุดิบทางธรรมชาติจากชิลี ปัจจุบันปริมาณทางการค้าระหว่างไทยกับชิลียังมีพื้นที่ให้ขยายตัวอีก และได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก ๖๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ๒๕๕๐ เป็นมากกว่า ๙๘๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ๒๕๕๔ ในแง่ของสินค้า สินค้าส่งออกหลักจากไทยไปชิลีในปี ๒๕๕๔ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องจักรกล พลาสติก ยาง และซีเมนต์ ส่วนสินค้าส่งออกหลักของชิลีมาไทยได้แก่ ทองแดงและแร่ธาตุอื่นๆ สัตว์น้ำ สินแร่เหล็ก เหล็กกล้า และกระดาษ
การลงทุน
ทั้งสองประเทศเป็นคู่ลงทุนที่มีศักยภาพ เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๕ บริษัทมากอตโต้ (Magotteaux) ในเครือซิกโด้คอปเป้อร์ส (Sigdo Koppers) ของชิลี ได้เปิดฐานการผลิตลูกบดโลหะและชิ้นส่วนหม้อบดแนวตั้ง ที่จังหวัดสระบุรี เพื่อที่จะใช้ฐานการผลิตดังกล่าวเป็นศูนย์กลางการผลิตและโลจิสติกส์ในเอเชีย ซึ่ง ณ ปัจจุบัน เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดของชิลีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๕ โปรชิลี (ProChile) หรือคณะกรรมาธิการการค้าชิลีได้เปิดสำนักงานแห่งใหม่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีความรับผิดชอบในการขยายและนำนโยบายทางการค้าของชิลีมาปฏิบัติในภูมิภาค พันธกิจของโปรชิลีคือการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสร้างความหลากหลายในสินค้าส่งออกและบริการของชิลีโดยเพิ่มตลาดสินค้าส่งออกและบริษัทส่งออก