https://www2.moc.go.th/ewt_news.php?nid=5201&filename=index_design4
วันที่ 21 มี.ค. 2554
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปาฐกถาพิเศษ “อาเซียน-จีน โอกาสประเทศไทย” เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มีนาคม 2554 ณ ห้อง Ballroom โรงแรม Intercontinental
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ก่อนอื่น ดิฉันขอขอบคุณคณะผู้จัดงานที่ได้จัดงานสัมมนาที่เป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะได้รับจากการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีน (Framework Agreement on ASEAN-China Comprehensive Economic Cooperation) ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนาครั้งนี้
หากจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างอาเซียนกับจีน คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความเชื่อมโยงมาสู่การค้าขายระหว่างไทย-จีนที่เข้มข้นขึ้นอย่างแน่นอน รวมถึงความเชื่อมโยงทางด้านสังคม วัฒนธรรม การเมือง และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ด้วย
ความตกลง FTA อาเซียน-จีนนับว่ามีความสำคัญอย่างมาก จีนนับเป็นคู่เจรจาอันดับแรกที่อาเซียนได้ลงนามความตกลง FTA ด้วย โดยได้เริ่มลงนามกรอบความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีนในปี 2545 และความ ตกลงฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา มูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนกับจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปี 2552 มีมูลค่าการค้า สูงกว่า 212,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจีนนำเข้าจากอาเซียนสูงถึง 106,202 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 10 ของการนำเข้าของจีนจากทั่วโลกและผลจากความตกลง FTA อาเซียน-จีน
และผลจากความตกลง FTA อาเซียน-จีน ก็ปฏิเสธมิได้ว่าทำให้ภาพรวมการค้าระหว่างไทยและจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน โดยหากพิจารณาเปรียบเทียบมูลค่าการค้าก่อนและหลังความตกลงมีผลบังคับใช้ พบว่ามูลค่าการค้ารวมระหว่างไทย-จีนขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นกว่า 106% โดยในปี 2546 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 11,691 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ปี 2549 หลังจากความตกลง มีผลบังคับใช้เพียง 1 ปี มูลค่าการค้าสองฝ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 25,332 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการค้าเพิ่มสูงขึ้นทุกปีหลังจากนั้น
โดยล่าสุดในปี 2553 ไทยมีมูลค่าการค้ากับจีนสูงถึง 45,989.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นประมาณเกือบ 4 เท่าตัวเมื่อเทียบกับก่อนมี FTA อาเซียน-จีน
ในด้านการใช้สิทธิจากความตกลงด้านการค้าสินค้า จากสัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับจีน หากดูจากปี 2553 ซึ่งไทยส่งออกอยู่ที่มูลค่า 11,453 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในจำนวนนี้ มีการขอใช้สิทธิผ่าน FTA อาเซียน-จีน 7,372 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 60 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโอกาสทางการค้ากับจีนยังคงมีอีกมาก
ดิฉันมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การสัมมนาในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA อาเซียน-จีนให้เพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการภาคเอกชนจะได้ทราบโอกาสต่างๆ ภายใต้ความตกลง และจะเป็นข้อได้เปรียบสำคัญของผู้ประกอบการไทยในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนซึ่งมีจำนวนถึง 1,300 ล้านคน ในขณะเดียวกันผู้ผลิตในประเทศจะต้องปรับตัวรองรับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นจากจีนเช่นเดียวกัน
และในส่วนของการลงทุน อาเซียนและจีนได้เจรจาจัดทำความตกลงด้านการลงทุนแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่การลงทุนและนักลงทุน รวมถึงให้ความคุ้มครองนักลงทุน และเงินทุนของนักลงทุนของทั้งสองฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ จีนเองก็มีนโยบายให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจในอาเซียน เนื่องจากจีนมองว่าหากเศรษฐกิจในอาเซียนเติบโต ก็จะทำให้มูลค่าการค้าและการลงทุนกับจีนเติบโตไปด้วย
ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ประเทศอาเซียนภายใต้วงเงิน 8,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อให้จีนเข้าไปร่วมทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน สาธารณูปโภค ระบบขนส่ง และระบบสื่อสารในกลุ่มประเทศอาเซียน
สำหรับประเทศไทย นักลงทุนจีนได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2551 การลงทุนจากจีนมีมูลค่า 1,505 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 43,189 ล้านบาทในปี 2552
อย่างไรก็ดี ในปีที่ผ่านมาการลงทุนจากจีนลดลงเหลือ 10,698 ล้านบาท ซึ่งอาจเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและการเมืองของไทยในช่วงที่ผ่านมา แต่ ตัวเลขการลงทุนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า จริงๆ แล้วจีนให้ความสนใจที่จะมาลงทุนในไทยเป็นอย่างมาก โดยหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2552 ปริมาณการลงทุนจากจีนในไทยได้เพิ่มสูงขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว ในขณะที่ตัวเลขการลงทุนของนักลงทุนไทยในจีนยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งดิฉันมองว่าศักยภาพโอกาสของนักลงทุนไทยในตลาดจีนมีสูงมาก จึงอยากจะใช้โอกาสนี้กระตุ้นนักลงทุนและผู้ประกอบการให้หันมาให้ความสนใจกับตลาดจีนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความตกลงอาเซียน-จีน เราควรใช้ความตกลงดังกล่าวเป็นแต้มต่อในการเข้าสู่ตลาดจีน
ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับจีน เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-จีน รวมทั้งไทย-จีนมีความเข้มแข็งและใกล้ชิดมากขึ้น โดยครอบคลุมสาขาการเกษตร เทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาบุคลากร การลงทุน การพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง เป็นต้น ซึ่งดิฉันจะขอยกตัวอย่าง 3 โครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับจีนที่สำคัญอย่างยิ่ง ได้แก่
(1) โครงการ ASEAN-China Business Portal ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลต่างๆ ของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ข้อมูลผู้ประกอบการในสาขาต่างๆ รวมถึงกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ภายใต้ความตกลงฯ และในอนาคตจะพัฒนาไปสู่การค้าในลักษณะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ต่อไป ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสนับสนุนการขยายตัวทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียน-จีนเพิ่มมากขึ้น (ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจอาจเข้าไปดูรายละเอียดของเว็บไซต์ได้ที่ https://b2b.asean-cn.org)
(2) โครงการ ASEAN-CHINA SME Conference ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8-9 มิถุนายน 2554 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้ประกอบการ และนักลงทุนจากอาเซียนและจีน เกี่ยวกับข้อมูลและปัจจัยที่มีความสำคัญในการประกอบธุรกิจนำเข้า-ส่งออก รวมถึงกฎ ระเบียบ พิธีการศุลกากรระหว่างประเทศอาเซียนและจีนด้วย
นอกจากนั้น ยังเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ ภาคเอกชนในอาเซียนและจีนมีได้มีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนทัศนะต่อกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกันด้วย
(3) โครงการ ASEAN – China Workshop on Operational Procedure under the ASEAN-China FTA ซึ่งเป็นโครงการที่ไทยเสนอ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรอาเซียนต่อการทำงานด้านกฎระเบียบทางด้านพิธีการศุลกากรของจีน ซึ่งปัจจุบันประสบปัญหาในด้านความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างศุลกากรอาเซียนและจีน โดยคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม 2554 นี้
ความตกลงอาเซียน-จีน ที่ดำเนินมากว่า 6 ปีแล้วนั้น ได้มีการพัฒนาความตกลงให้มีความทันสมัย รองรับความเปลี่ยนแปลงและความต้องการของภาคธุรกิจมากยิ่งขึ้น โดยล่าสุด อาเซียนได้ลงนามพิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงฉบับที่ 2 เพื่อปรับปรุงกฎระเบียบว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งจะทำให้การซื้อขายผ่านนายหน้าในประเทศที่สาม และการผ่องถ่ายสินค้าในประเทศหนึ่งก่อนไปถึงประเทศปลายทางสามารถทำได้และได้รับสิทธิภายใต้ความตกลงฯ
ในด้านการค้าบริการ ปัจจุบันภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีน ก็จะได้ขยายสาขาการเปิดตลาดการค้าบริการเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมด้านวิชาชีพ การสื่อสาร บริการก่อสร้างและวิศวกรรม บริการทางการศึกษา บริการสิ่งแวดล้อม บริการด้านการเงิน และท่องเที่ยว เป็นต้น
กล่าวมาถึงตรงนี้ ท่านทั้งหลายอาจสงสัยว่า ความตกลงฯ อาเซียน-จีนเป็นโอกาสของไทยจริงหรือ ดิฉันขอเรียนว่า หากมองในแง่ของการเป็นคู่แข่งทางการค้า เราคงจะปฏิเสธมิได้ว่า การแข่งขันกับจีนเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่เฉพาะแต่ประเทศไทยเท่านั้น แม้แต่ประเทศมหาอำนาจเช่น สหรัฐฯ หรือ สหภาพยุโรปต่างก็ประสบปัญหาเดียวกัน เนื่องจากจีนมีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนการผลิตอย่างมาก
อย่างไรก็ดี หากมองในแง่ของพันธมิตรทางการค้า อุตสาหกรรมไทยสามารถได้ประโยชน์อย่างมาก เราสามารถนำเข้าวัตถุดิบราคาถูกจากจีนภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีนมาผลิตเพื่อส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อสามารถเข้าถึงตลาดกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน หลีกหนีจากตลาดการค้าที่มีการแข่งขันสูงและมี Margin ต่ำอย่างตลาด Red Ocean ไปสู่ Blue Ocean หรือตลาดที่กลุ่มผู้ซื้อมีกำลังซื้อสูงและมีมูลค่าการตลาดสูง
นอกจากนั้น ในระยะยาวกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียน + 3 (ที่ประกอบด้วยประเทศอาเซียน 10 ประเทศ รวมทั้ง จีน เกาหลี และญี่ปุ่น) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต จะยิ่งเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับไทย เนื่องจากขนาดตลาดที่ใหญ่ขึ้น โดยมีประชากรรวมกันกว่า 2,000 ล้านคน มี GDP มูลค่ากว่า 9.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18 ของ GDP โลก ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยพบว่า ประเทศอาเซียนรวมทั้งไทย จะได้รับประโยชน์จากความตกลงอาเซียน + 3 นี้ โดยจะทำให้ GDP ของอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดิมถึงร้อยละ 3.6
สุดท้ายนี้ ดิฉันขอเชิญท่านผู้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ที่มาจากทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์จากความร่วมมืออาเซียน-จีน และ ขอให้ทุกท่านได้รับประโยชน์จากการสัมมนาในครั้งนี้ ตามที่ได้ตั้งใจ ขอบคุณค่ะ